สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานเมื่อ 22 มี.ค.66 ว่า ในวันเดียวกันนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 4.75-5.0 ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550 ท่ามกลางความกังวลว่าจะเป็นการเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมให้กับภาคการธนาคาร ส่งผลให้วิกฤตการณ์ธนาคารย่ำแย่ลง อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณว่าใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดของการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในปี 2566 โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุดจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.0-5.25 และจะคงระดับดังกล่าวจนถึงปี 2567 ก่อนจะทยอยปรับลดลงให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.3 ก่อนสิ้นปี 2567
ทั้งนี้ การคาดการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลงและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยคาดว่า อัตราการเติบโตจะชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 0.4 ในปี 2566 และจะปรับขึ้นเป็นร้อยละ 1.2 ในปี 2567 และร้อยละ 1.9 ในปี 2568 ส่วนดัชนีราคาบริโภคส่วนบุคคลจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.6 ในสิ้นปี 2566 และจะลดลงที่ร้อยละ 2.6 ในปี 2567 ขณะที่อัตราการว่างงานในปี 2567 จะสูงสุดที่ร้อยละ 4.6