ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศในปี 2566 ตลอดจนข้อมูลจากหอการค้าไทยและสมาคมการค้าดิจิทัลไทย ได้แสดงว่าไทยขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้นและแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดกับสินค้าที่ผลิตในประเทศ อาทิ รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน เป็นต้น ส่วนสาเหตุที่สินค้าจีนแข่งขันได้มากกว่าสินค้าไทย เพราะการเข้ามาของเว็บอีคอมเมิร์ซ เช่น ลาซาด้า ชอปปี้ และติ๊กต่อก รวมถึงมาตรการยกเว้นภาษีสินค้ามูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ทำให้ผู้ประกอบการจีนอาศัยการนำสินค้ามาไว้ที่คลังในเขตปลอดอากร และเบิกออกจากคลังในมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษี
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้มีมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายระหว่างพักสินค้า ประกอบกับไทยมีข้อตกลงทางไปรษณีย์สากลที่ต้องจ่ายค่าส่งในสัดส่วนมากกว่าจีน โดยเป็นข้อตกลงที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2512 แต่ยังไม่มีการปรับปรุง ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ได้รับความสนใจหรือแก้ไขปัญหาจากภาครัฐจะยิ่งทำให้สินค้าจีนที่ผลิตในจำนวนมากทะลักเข้ามาในไทย รวมไปถึงสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย
ภาคอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC และศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ Krungthai Compass ประเมินสถานการณ์ของภาคการส่งออกในปี 2567 แม้จะมีสัญญาณฟื้นตัวดีจากการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แต่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากปัญหาการสู้รบในทะเลแดงที่ยืดเยื้อ ซึ่งทำให้ยุโรปมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นที่มีต้นทุนค่าขนส่งถูกกว่า โดยคาดว่าจะมีสินค้าไทยที่ได้รับผลกระทบ อาทิ สินค้าเกษตรและอาหาร เครื่องปรับอากาศ หม้อแปลงไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์
ขณะเดียวกันการส่งออกสินค้าไทยยังมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากปัญหาระดับน้ำในคลองปานามาลดลง ซึ่งปัจจุบันมีการจำกัดจำนวนเรือสัญจรเหลือ 24 ลำต่อวัน จากปกติ 38 ลำต่อวัน ส่งผลให้ระยะเวลาเดินเรือและต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้น