บรรดานักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และภาคเอกชน ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 ในทำนองเดียวกันว่า การที่เศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งปีแรกมีแนวโน้มชะลอตัว โดยมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำคัญคือ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาสงครามภายในภูมิภาค รวมทั้งกรณีที่หลายประเทศมีการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งอาจส่งผลให้นโยบายระหว่างประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำโลกยังคงนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ทำให้มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตมีราคาสูงขึ้น
ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรกจึงมีแนวโน้มชะลอตัวเช่นกัน เพราะนอกจากผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตแล้ว ยังมีอุปสรรคด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วย ขณะที่นโยบายด้านเศรษฐกิจก็ขับเคลื่อนได้ไม่เต็มที่ เพราะติดขัดด้านการเบิกจ่ายงบประมาณ
อย่างไรก็ดี เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวสักระยะหนึ่งแล้วนั้น หลายประเทศต้องเริ่มใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย และออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังที่จะเป็นช่วงการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐเต็มที่ และเป็นช่วงที่ ธปท.ไทยใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายตามกระแสโลกเช่นกัน จึงจะส่งผลให้เกิดเม็ดเงินจำนวนมากเพิ่มเข้ามาหมุนเวียนในระบบ
นอกจากนี้ภาคส่วนเศรษฐกิจชี้ตรงกันด้วยว่า นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีหรือไม่ โดยส่วนใหญ่ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3 แต่หากมีนโยบายเงินดิจิทัลอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4 – 4.3 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรต้องมีนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างควบคู่กันด้วยเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องได้ในระยะยาว