หลายภูมิภาคของไทยมีปัญหาฝุ่น PM2.5 รุนแรงขึ้น สาเหตุจากไฟป่าที่เพิ่มขึ้น ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ปรากฏในห้วงปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นในลักษณะชี้ว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกำลังเผชิญปัญหาฝุ่น PM2.5 รุนแรงที่สุด รองลงมาเป็นภาคกลาง และภาคเหนือบางจังหวัด อาทิ จ.ลำปาง
ทั้งนี้ ข้อมูลจากภาครัฐและภาคประชาสังคมล่าสุด (6 ก.พ. 67) ระบุว่า สาเหตุที่หลายภูมิภาคของไทยเผชิญปัญหาฝุ่น PM2.5 รุนแรงขึ้น เพราะพบจุดความร้อนในไทยเพิ่มขึ้น และถือเป็นจำนวนมากที่สุดของกลุ่มประเทศภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รองลงมาเป็นกัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และลาว) ทั้งนี้ ต้นตอของจุดความร้อนในไทยส่วนใหญ่เป็นไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ โดยเฉพาะในเขต จ.กาญจนบุรี และจ.ลำปาง
ส่วนสาเหตุรองลงมาเป็นการเผาในภาคการเกษตรทั้งในไทย และจากประเทศรอบบ้านไทย อย่างไรก็ตาม ข่าวสารปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ปรากฏในห้วงปัจจุบันนั้น ไม่พบการกล่าวถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ใน จ.เชียงใหม่ เหมือนอย่างที่พบอยู่บ่อยครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ไทยเผชิญภัยไซเบอร์ที่อันตรายรุนแรงเพิ่มขึ้น เว็บไซต์ Resecurity บริษัทด้านความปลอดภัยไซเบอร์ของสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานเมื่อ 22 ม.ค. 67 ระบุว่า ข้อมูลระบุตัวตนได้ของคนไทย (อาทิ เลขประจำตัวประชาชน ชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ อีเมล รูปถ่ายหน้าตรง) ถูกนำไปขายใน Dark Web เฉพาะช่วงเดือน ม.ค. 67 มีถึงประมาณ 20 ล้านชุดข้อมูล โดยเป็นข้อมูลที่หลุดมาจาก 5 แหล่ง ได้แก่ ข้อมูลประมาณร้อยละ 95 เป็นของกรมกิจการผู้สูงอายุ และอีกประมาณร้อยละ 5 เป็นข้อมูลสมาชิกศูนย์หนังสือจุฬาฯ ข้อมูลกำลังพล ทร. ข้อมูลสมาชิกเว็บไซต์เอกชน ข้อมูลของเว็บไซต์หางาน
ประเด็นสำคัญคือการจารกรรมชุดข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ใช้วิธีการที่ซับซ้อน แต่เป็นผลจากการมีช่องโหว่ของแหล่งข้อมูลเหล่านั้นเอง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจด้านความปลอดภัยไซเบอร์ระดับองค์กรในไทยเมื่อห้วง ก.ค. – ธ.ค. 66 ของ Check Point Software บริษัทด้านความปลอดภัยไซเบอร์ของอิสราเอล ที่พบว่า องค์กรในไทยถูกโจมตีทางไซเบอร์ถึง 1,892 ครั้งต่อสัปดาห์ (ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 1,040 ครั้งต่อสัปดาห์) โดยหน่วยงานภาครัฐ กองทัพ บริษัทอุตสาหกรรม และธนาคาร เป็นกลุ่มที่ถูกโจมตีมากที่สุด และการโจมตีมุ่งการหลอกลวงทรัพย์สิน และปล้นใช้ทรัพยากรภายในของอุปกรณ์เทคโนโลยีของเป้าหมาย