กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับธนาคารโลก และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยผลสำรวจทักษะทุนชีวิตของคนไทยอายุ 15 – 64 ปี ที่เป็นกลุ่มเยาวชนและวัยแรงงาน โดยประเมินจากทักษะด้านการรู้หนังสือด้านดิจิทัล และด้านอารมณ์กับการเข้าสังคม พบว่าร้อยละ 64.7 มีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์ในด้านการรู้หนังสือ และร้อยละ 74.1 มีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์ในด้านความสามารถดิจิทัล
รวมถึงพบว่าคนไทยที่มีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์นั้นกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มที่มีอายุหรือกลุ่มที่มีการศึกษาไม่ถึงระดับอุดมศึกษา และกลุ่มที่อาศัยในชนบทโดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งระดับทักษะทุนชีวิตของประชาชนนั้นมีผลต่อศักยภาพการเติบโตของประเทศและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีรายงานว่าการเพิ่มการรู้หนังสือของประชาชนเพียงร้อยละ 1 จะส่งผลให้ GDP ต่อหัวเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 3 อีกด้วย