ข้อมูลจากสถาบันการเงิน นักวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานตรงกันว่า สถานการณ์หนี้สินของไทย โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนอยู่ในภาวะน่ากังวล เนื่องจากมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงถึงร้อยละ 90 ต่อ GDP (นักวิชาการประเมินว่าหากไม่มีการแก้ไข หนี้ครัวเรือนจะมีสัดส่วนเทียบเท่า GDP ภายในปี 2570) และมีแนวโน้มที่ปัญหาหนี้จะรุนแรงขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ทำให้ประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายทำให้ต้องกู้ยืมเงินเพิ่ม โดยมีตัวขับเคลื่อนหลัก ได้แก่ หนี้ส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต หนี้บ้าน และหนี้รถยนต์ ที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นหนี้กำลังจะเสีย (SML) และหนี้เสีย (NPL) ในอัตราที่มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น
ขณะที่ประชาชนบางส่วนยังแสดงความคาดหวังให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ให้ต่อไป แม้รัฐบาลจะปิดลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบแล้ว สำหรับปัญหาหนี้ภาคเอกชนนั้น มีความกังวลต่อกรณีความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้ โดยเฉพาะหนี้หุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตต่ำ(มีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระในช่วง มี.ค. – มิ.ย. 67 รวมมูลค่าประมาณ 500,000 ล้านบาท) โดยมีบริษัทเริ่มทยอยขอยืดระยะเวลาชำระหนี้กู้ออกไป แลกกับการจ่ายดอกเบี้ยชดเชยเพื่อซื้อสภาพคล่องและเวลาให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน