สื่อต่างประเทศยังคงให้ความสนใจรายงานเกี่ยวกับปัญหาสภาพอากาศในทวีปเอเชีย ซึ่งยังคงเผชิญกับคลื่นความร้อนและมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับพายุฤดูร้อนในระยะต่อไป รวมถึงนักวิชาการประเมินว่าความแปรปรวนของสภาพอากาศในทวีปเอเชียน่าจะไม่ต่างจากปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่โลกร้อนที่สุดมากนัก สำหรับสถานการณ์ของไทยนั้น มีผู้เสียชีวิตจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วง มี.ค.-เม.ย. 67 (2 เดือน) แล้ว 38 ราย ซึ่งสูงกว่าสถิติปี 2566 ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วง มี.ค.- มิ.ย. 66 (4 เดือน) รวม 37 ราย
ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งตามพื้นที่ต่าง ๆ ของไทยยังอยู่ในภาวะรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะภาคการเกษตร อีกทั้งยังเริ่มลุกลามมายังภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยพบการรายงานแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เช่น น้ำตกและอ่างเก็บน้ำเผชิญกับปัญหาน้ำน้อยหรือไม่มีน้ำ ทะเลเผชิญความเสี่ยงกับวิกฤตปะการังฟอกขาว (นักวิชาการระบุว่าไทยอาจเผชิญภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่เทียบเท่าปี 2553) เป็นต้น ขณะที่เมืองท่องเที่ยวของไทย อาทิ พัทยา เกาะพีพี จ.กระบี่ เผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค ทำให้นักท่องเที่ยวทยอยยกเลิกการจองที่พักหรือยกเลิกกำหนดการท่องเที่ยวแล้ว
อีกประเด็นที่สื่อมวลชนเริ่มให้ความสนใจรายงานคือ สถานการณ์ระดับน้ำในเขื่อนของขนาดใหญ่ของไทย ซึ่งพบว่าเขื่อนภูมิพลเหลือปริมาณน้ำสำรองร้อยละ 49 เขื่อนสิริกิติ์เหลือปริมาณน้ำสำรองร้อยละ 43 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เหลือปริมาณน้ำสำรองร้อยละ 15 สร้างความกังวลต่อปัญหาน้ำไม่พอใช้ในภาวะแล้งจัด