การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวของผู้นำจีนกับรัสเซียในช่วงนี้มีนัยยะสำคัญต่อทิศทางการเมืองโลก สองผู้นำ จากที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกันมากนักก็ดูจะสนิทสนมและไว้วางใจกันมากขึ้น เขาเรียกว่าคนหัวอกเดียวกันยิ่งเวลาผ่านไปยิ่งสนิทชิดเชื้อ ทั้งนี้หากจีนกับรัสเซียเกิดจับขั้วกันขึ้นมาจริงๆ มันจะเป็นผลดีต่อเสถียรภาพของโลกหรือยิ่งจะทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นที่ความขัดแย้งที่มีอยู่แล้วจะขยายเป็นสงครามระดับโลกเร็วขึ้น
เดือนก่อน แอนโทนี่ บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเยือนจีนเพื่อยับยั้งไม่ให้จีนส่งสินค้าประเภทที่ใช้ได้ 2 ทาง หรือ dual use ให้กับรัสเซียเพื่อนำไปผลิตอาวุธใช้ในสงครามยูเครนซึ่งผลออกมาล้มเหลวไม่เป็นท่าเพราะนอกจากจีนจะไม่ฟังแล้วยังแสดงท่าทีที่เย็นชาใส่รัฐมนตรีของสหรัฐอย่างไม่เกรงกลัวศักดิ์ศรี
การทูตแบบควันออกหูระหว่างจีนกับสหรัฐที่กล่าวมาอาจมีส่วนผลักดันให้จีนที่กำลังมีปัญหาเศรษฐกิจภายในอยู่แล้วต้องทำอะไรมากขึ้นในเวทีโลกก็ได้ ซึ่งต่อมา สี จิ้นผิง ผู้นำจีนก็เดินทางเยือนยุโรปเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดย 3 ประเทศที่เลือกเดินทางไปได้แก่ฝรั่งเศส เซอร์เบีย และฮังการี นั้น จีนก็คงคิดอย่างดีแล้วว่าต้อง “คุยได้” โดยฝรั่งเศส ถือว่าเป็นชาติผู้นำในยุโรประดับเดียวกับเยอรมัน แม้จะเคยมีปัญหากับจีนบ้างเรื่องการค้าแต่ตัวผู้นำคือมาครงก็แสดงออกมาชัดเจนว่าต้องการให้ยุโรปเป็นตัวของตัวเองมากกว่าเชื่อตามอเมริกา
อีกทั้งมาครงก็ค่อนข้างสนิทกับสี จิ้นผิง ดี ส่วนเซอร์เบียนั้นเป็นประเทศที่สนับสนุนโครงการ BRI ของจีนและได้ประโยชน์จากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงเบลเกรดกับบุดาเปส เช่นเดียวกันกับฮังการีที่สนับสนุน BRI ของจีนและยอมรับการลงทุนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าของจีน นอกจากนี้ทั้งเซอร์เบียและฮังการีก็เป็นชาติยุโรปที่ปกครองโดยเผด็จการเสียงข้างมากซึ่งแบบนี้คุยกับจีนรู้เรื่องมากกว่าพวกที่พยายามคุยแต่เรื่องสิทธิมนุษยชนที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในจีน
สรุปแล้วจีนตอนนี้กำลังถูกอเมริกาและพวกปิดล้อมทางเศรษฐกิจ ถูกกีดกันการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง อีกทั้งยังถูกตั้งกำแพงภาษีอย่างไม่เป็นธรรม หากไม่ทำอะไรเลยก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอันเกิดจากการผลิตที่ล้นตลาดและการถูกปิดล้อมจากภายนอก ดังนั้นการเยือนยุโรปครั้งนี้จึงน่าจะเป็นความพยายามดึงเอามิตรบางประเทศให้ห่างออกมาจากพวกของอเมริกาและยุโรปโดยอาศัยการเสนอหลักการที่ทั่วโลกเห็นพ้องได้แก่การมี BRI เป็นแพลตฟอร์มในพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความอยู่ดีกินดีกับความมั่นคงปลอดภัยและการอยู่ร่วมกันบนอารยธรรมที่หลากหลาย นอกจากนี้ดูจากการเคลื่อนไหวของจีนที่มุ่งไปสู่ Global South ในห้วงที่ผ่านมาเชื่อว่าจีนต้องการจัดระเบียบการค้าโลกใหม่โดยให้หลุดพ้นจากระบบที่ออกแบบโดยสหรัฐและยุโรป
ในการเยือนยุโรป แน่นอนว่าสิ่งที่เป็นกังวลของชาติยุโรปและต้องขอให้จีนช่วยคือการคุยกับรัสเซียให้เกิดสันติภาพในยูเครนซึ่งถึงแม้ว่าจีนรับปากแต่ก็คงช่วยไม่ได้เพราะทั้งรัสเซียและยูเครนไม่มีใครยอม โดยเฉพาะรัสเซียที่เข้าใจว่าตัวเองกำลังได้เปรียบเพราะประชาชนสนับสนุนปูตินทำให้มีความมั่นใจในการเดินเกมสงครามนิวเคลียร์มากขึ้น อีกทั้งเศรษฐกิจรัสเซียก็กำลังไปได้เพราะสงครามทำให้เกิดการจ้างงานผลิตอาวุธ อย่างไรก็ตามในการพบกับผู้นำจีน การที่ปูตินไม่ปฏิเสธแผนสันติภาพของจีนก็เป็นไปเพื่อสร้างภาพให้โลกเห็นว่าจีนกับรัสเซียสามารถทำให้โลกมีเสถียรภาพได้ แต่เรื่องความตกลงสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนนั้นยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้นได้จริง
การที่สหรัฐปล่อยงบประมาณเพื่อสนับสนุนยูเครนล่าช้า ทำให้ต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าที่อาวุธใหม่จะส่งมาถึง ซึ่งช่วงนี้รัสเซียน่าจะเร่งรุกคืบยึดพื้นที่ให้มากที่สุด ทั้งนี้ปัญหาการล่าช้าของงบประมาณอันเกิดจากฝ่ายของนายทรัมพ์มีเสียงข้างมากในสภานี้ทำให้ยุโรปไม่อาจไว้วางใจสหรัฐได้อีกต่อไปโดยเฉพาะหากนายทรัมพ์ชนะได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอาจใช้เล่ห์เหลี่ยมทำให้ยูเครนต้องแพ้รัสเซียเพื่อปลดภาระของสหรัฐแต่ก็จะกลายเป็นภัยคุกคามต่อยุโรปทันที จึงเชื่อว่านาโต้จะต้องหาทางแก้ปัญหางบประมาณสนับสนุนยูเครนเพื่อให้สัดส่วนการถืองบของสหรัฐลดน้อยลงไป
ณ เวลานี้ จีนวางตัวเป็นกลางในสงครามยูเครน แม้จีนส่งสินค้า dual use ให้รัสเซียแต่ก็ไม่มีความร่วมมือด้านความมั่นคงต่อกัน แต่เพียงแค่นี้ก็ทำให้รัสเซียมีความมั่นใจมากขึ้น และอาจข่มขู่ชาติเล็กๆรอบทะเลบอลติกที่เคยอยู่กับโซเวียตด้วยอาวุธนิวเคลียร์หรือสงครามไซเบอร์เพื่อทดสอบว่าหากเกิดสงครามขึ้นพันธมิตรนาโต้จะมาช่วยได้ทันหรือไม่
Credit : TB-Talk facebook