ความรุนแรงจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮะมาสในฉนวนกาซายังไม่มีแนวโน้มลดน้อยลง เมื่อ 23 ก.ค.67 กองทัพอิสราเอลประกาศเตือนให้ชาวปาเลสไตน์อพยพออกจากพื้นที่ค่ายผู้อพยพ Khan Younis ซึ่งก่อนหน้านี้กำหนดให้เป็นเขตปลอดภัยด้านมนุษยธรรม หรือ Humanitarian Zone โดยอิสราเอลต้องการใช้อาวุธหลากหลายรูปแบบทำลายความเคลื่อนไหวของกลุ่มฮะมาสที่อยู่ในพื้นที่ เนื่องจากอิสราเอลอ้างข้อมูลข่าวกรองว่า กลุ่มฮะมาสใช้ค่ายผู้อพยพดังกล่าวเป็นฐานโจมตีอิสราเอล สำหรับการโจมตีของอิสราเอลประกอบด้วยการใช้รถถัง ปืนใหญ่ และการโจมตีทางอากาศ ส่งผลให้มีรายงานผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เพราะอพยพไม่ทัน ปัจจุบันจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 39,000 คน
ปัจจุบันกองทัพอิสราเอลเป็นฝ่ายได้เปรียบในสงคราม แต่กลุ่มฮะมาสยังมีรายงานประสบความสำเร็จในการโจมตียุทโธปกรณ์ของกองทัพอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนใต้ของฉนวนกาซา นอกจากนี้ เมื่อ 21 ก.ค.67 กลุ่มฮะมาสแสดงความยินดีที่รัฐบาลปากีสถาน ประกาศว่าอิสราเอลก่ออาชญากรรมสงคราม พร้อมทั้งเรียกร้องให้นานาชาติพิจารณาให้ นรม.อิสราเอลเป็นผู้ก่อการร้าย โดยกลุ่มฮะมาสสนับสนุนให้ประเทศมุสลิมทั่วโลกสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ต่อไป รวมทั้งร่วมมือกันกดดันอิสราเอลให้ยุติการสังหารหมู่ในฉนวนกาซา
อิสราเอลยังมีความเคลื่อนไหวในเขตเวสต์แบงก์ คาดว่าเตรียมปลูกสิ่งก่อสร้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการผนวกพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวเพื่อผนวกดินแดนชาวปาเลสไตน์ของอิสราเอลน่าจะถูกนานาชาติต่อต้านอย่างมาก โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป แคนาดา นิวซีแลนด์และญี่ปุ่น ที่น่าจะมีมาตรการตอบโต้กดดันอิสราเอลเพิ่มเติม เพื่อยับยั้งไม่ให้มีการผนวกดินแดน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ระยะยาว
สหรัฐฯ ยังเดินหน้าแสดงบทบาทแก้ไขปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้ โดยประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน จะพบกับ นรม.เบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลที่ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใน 23 ก.ค.67 เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในตะวันออกกลางและความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ อย่างไรก็ตาม กรณีประธานาธิบดีไบเดนประกาศถอนตัวจากการเป็นผู้แทนพรรคเดโมแครตเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นใน พฤศจิกายน 2567 อาจทำให้ นรม.เนทันยาฮูเผชิญความท้าทายในการโน้มน้าวให้ผู้นำสหรัฐฯ สนับสนุนการทำสงครามของอิสราเอล แต่ปัจจุบัน นรม.เนทันยาฮูยังเชื่อมั่นว่า สหรัฐฯ จะยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายสนับสนุนความมั่นคงของอิสราเอล และจะใช้โอกาสการเยือนสหรัฐฯ ครั้งนี้ขอให้ฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอลต่อไปด้วย