เมื่อ 13 พ.ย. 67 เริ่มมีความชัดเจนว่า ใครจะได้อยู่ในรายชื่อบุคคลที่จะเข้ารับตำแหน่งสำคัญในทีมที่ปรึกษาและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกอบด้วยบุคคลใกล้ชิดที่ประกาศว่าสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีทรัมป์มาโดยตลอด และนักการเมืองที่มีมุมมองในการบริหารประเทศเหมือนกับอดีตประธานาธิบดีทรัมป์
การกำหนดนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ดูจากรายชื่อบุคคลที่จะเข้ารับตำแหน่ง เป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ทั้งประเด็นในประเทศและต่างประเทศ สัญญาณทิศทางการเมืองและนโยบายสหรัฐฯ หลังจากผู้นำคนใหม่รับตำแหน่ง ได้แก่
(1) การกำหนดนโยบายส่วนใหญ่จะมาจากฝ่ายบริหาร มากกว่าฝ่ายนิติบัญญัติ ผู้นำคนใหม่มีโอกาสจะออกคำสั่งผู้บริหาร (executive order) เพื่อเปลี่ยนทิศทางนโยบาย โดยไม่ต้องรอฝ่ายนิติบัญญัติเห็นชอบ แม้พรรครีพับลิกันมีแนวโน้มจะครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งวุฒิสภาสหรัฐฯ ก็ตาม เนื่องจากอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการเร่งสร้างความเปลี่ยนแปลงและความแตกต่างจากรัฐบาลชุดเดิมให้เร็วที่สุด
(2) ให้ความสำคัญอันดับแรกกับการบริหารจัดการชายแดนตอนใต้และเปลี่ยนนโยบายการรับผู้อพยพ สหรัฐฯ น่าจะส่งกลับผู้อพยพที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย และออกระเบียบคัดกรองผู้อพยพเข้มงวดมากขึ้นมากกว่าสมัยประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันชายแดนจากผู้อพยพผิดกฎหมาย แต่ไม่มีมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดจำนวนผู้อพยพที่จะรับเข้าประเทศ เป็นโอกาสให้ผู้อพยพจำนวนมากแสวงประโยชน์ รวมทั้งมีรายงานเมื่อ 11 พ.ย.67 ว่า ผู้อพยพจำนวนมากเร่งเดินทางข้ามพรมแดนทางตอนใต้เข้าสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการที่เข้มงวดหลังจากอดีตประธานาธิบดีทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง
(3) มหาเศรษฐีและเจ้าของสื่อสังคมออนไลน์ได้เป็นผู้ทรงอิทธิพลในรัฐบาลชุดใหม่ คือ Elon Musk ซึ่งว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ไว้วางใจและให้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานใหม่ชื่อว่า Department of government efficiency ที่มีสถานะชั่วคราวเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการทำงานในระบบราชการให้คล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้ สื่อยังจับตามองการเสนอชื่อ Robert F Kennedy Jr. สมาชิกครอบครัวผู้ทรงอิทธิพลทางการเมือง ให้รับตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลชุดใหม่ด้วย
(4) นโยบายต่างประเทศจะขัดแย้งกับจีนมากขึ้น เนื่องจากบุคคลใกล้ชิด รวมทั้งตัวอดีตประธานาธิบดีทรัมป์เองมีมุมมองว่าจีนเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ ให้ความสำคัญอย่างมาก ตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งครั้งแรก นอกจากนี้ บุคคลที่ได้รับตำแหน่งสำคัญในทีมที่ปรึกษาและคะณรัฐมนตรีในปี 2568 ก็มีมุมมองต่อจีนว่าเป็นคู่แข่งและเป็นภัยคุกคามเช่นกัน โดยเฉพาะ JD Vance ว่าที่รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ Mike Waltz ว่าที่ที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ประเมินว่าสหรัฐฯ กำลังทำสงครามเย็นกับจีน
สัญญาณทิศทางการเมืองจากการฟอร์มทีมของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์จะทำให้สหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ในฐานะมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของโลก แต่ที่แน่ ๆ คือ สิ่งที่ชาวอเมริกันต้องการ ซึ่งสะท้อนจากการเลือกตั้งครั้งนี้ คือให้ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดีขึ้น