ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ส่งสัญญาณว่าอาจทบทวนงบประมาณและนโยบายส่งเสริมการลงทุนในด้านอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ เพื่อดึงการลงทุนกลับประเทศมากขึ้น นโยบายดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวัน ซึ่งไต้หวันได้ประโยชน์จากรัฐบัญญัติส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ (CHIPS and Science Act) ที่เริ่มใช้เมื่อปี 2565 อย่างไรก็ตาม ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ เคยแสดงความเห็นว่าความร่วมมือกับไต้หวันทำให้สหรัฐฯ เสียเปรียบ รวมทั้งเป็นโอกาสให้ไต้หวันแย่งชิงความรู้ นวัตกรรม และอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไปจากสหรัฐฯ ดังนั้น ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศมากกว่า เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ควบคู่กับเพิ่มการจ้างงาน
อย่างไรก็ดี การลดความร่วมมือกับบริษัทไต้หวันในการผลิตและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ไม่น่าจะดำเนินการได้โดยเร็ว และสหรัฐฯ น่าจะยังร่วมมือกับไต้หวันต่อไปได้ เนื่องจากว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ ต้องใช้เวลาในการแก้ไข หรือยกเลิกรัฐบัญญัติดังกล่าว ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กับบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน โดยเฉพาะบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) และบริษัท GlobalWafers ได้เจรจาข้อตกลงที่จะร่วมมือกันเสร็จสิ้นแล้ว นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สหรัฐฯ ต้องการคบไต้หวันไว้เพื่อเป็นหอกข้างแคร่ของจีน
นานาชาติให้ความสนใจนโยบายพัฒนาและผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของรัฐบาลชุดใหม่สหรัฐฯ เนื่องจากเชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะแข่งขันกับจีนในประเด็นนี้มากขึ้น เพราะเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนสำคัญของเทคโนโลยีรุ่นใหม่ และการครอบครองตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของโลก สำหรับว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ คาดว่าจะดึงการลงทุนและอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กลับสหรัฐฯ มากขึ้น โดยอาจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนและพิจารณาความร่วมมือในกรอบ CHIPS and Science Act ใหม่ ขณะเดียวกันก็อาจจะใช้นโยบายภาษีเพื่อกดดันให้บริษัทในประเทศลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์
ไต้หวันให้ความสนใจและติดตามทิศทางนโยบายเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์ของรัฐบาลชุดใหม่อย่างใกล้ชิด เพราะอาจสูญเสียผลประโยชน์ด้านการลงทุน นอกจากนี้ ไต้หวันยังไม่มั่นใจทิศทางนโยบายด้านการทหารและความมั่นคง ในช่วงที่ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะขึ้นสู่ตำแหน่งด้วย แม้ว่าในสมัยแรก รัฐบาลทรัมป์ค่อนข้างเป็นมิตรกับไต้หวันและขายอาวุธให้ แต่จากการหาเสียงก่อนหน้านี้ ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ให้ความเห็นว่าไต้หวันควรจะต้องลงทุนด้านงบประมาณมากกว่านี้เพื่อปกป้องความมั่นคงของตัวเอง ทั้งนี้ นักวิชาการของไต้หวันมีมุมมองว่าว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ มีลักษณะคาดการณ์ได้ยาก (unpredictable) จึงทำให้ไต้หวันต้องเร่งสร้างปฏิสัมพันธ์เพื่อให้สหรัฐฯ ยังคงมีบทบาทเป็นผู้ค้ำประกันความมั่นคงให้ไต้หวันต่อไป