ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งผู้บริหาร (executive order) จำนวนมากเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายของประเทศ ซึ่งคำสั่งผู้บริหารเป็นอำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เท่านั้นที่สามารถลงนามในคำสั่งนี้ได้ เป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย โดยไม่ต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ เห็นชอบ มีลักษณะเป็นคำสั่งลายลักษณ์อักษรให้หน่วยงานต่าง ๆ ปฏิบัติตาม ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะลงนามในคำสั่งผู้บริหารจำนวนมากเพื่อเร่งสร้างผลงานและทำให้ฐานะเสียงเห็นว่าผู้นำรัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้ ส่วนมากจะใช้คำสั่งผู้บริหารเพื่อผลักดันวาระสำคัญ ๆ
แม้ว่าจะเป็นถึงคำสั่งที่ถูกต้องตามกฎหมายจากประธานาธิบดี แต่หน่วยงานต่าง ๆ มีสิทธิยื่นข้อต่อรองหรือเจรจาเพื่อให้การดำเนินงานตามคำสั่งดังกล่าวเหมาะสมและสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกฎหมายข้ออื่น ๆ ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ คำสั่งผู้บริหารยังสามารถถูกยกเลิกได้ ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถสร้างแรงกดดันให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงคำสั่งผู้บริหารได้โดยใช้กลไกรัฐสภา เช่น ไม่ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณ หรือขัดขวางผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ
สำหรับคำสั่งผู้บริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ 6 เรื่องที่น่าสนใจ ได้แก่
คำสั่งกำหนดให้กลุ่มลักลอบค้ายาเสพติดข้ามชาติเป็นองค์กรก่อการร้าย เพื่อยกระดับมาตรการจัดการกับกอาชญากรรมดังกล่าว ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์มีมุมมองว่าเป็นอันตรายและภัยคุกคามสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มลักลอบค้ายาเสพติดที่มาจากภูมิภาคอเมริกาใต้ คำสั่งดังกล่าวให้หน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอว่ากลุ่มไหนควรอยู่ในบัญชีองค์กรก่อการร้าย จากนั้นหน่วยงานความมั่นคงมีสิทธิและอำนาจในการจับกุม ควบคุมตัว ใช้เครื่องมือทางการทหารเพื่อปราบปราม รวมทั้งขับไล่ออกจากสหรัฐฯ ด้วย
คำสั่งถอนสหรัฐฯ จากการเป็นสมาชิกข้อตกลงปารีสและองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยให้ผู้แทนของสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติยื่นเรื่องทันที เนื่องจากข้อตกลงปารีสไม่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ และไม่สอดคล้องกับค่านิยมการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่จะสนับสนุนการผลิตน้ำมันในประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์เคยถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงดังกล่าวสำเร็จเมื่อปี 2563 แต่อดีตประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนกลับเข้าร่วมใหม่เมื่อปี 2564 ส่วน WHO ประธานาธิบดีทรัมป์เห็นว่าล้มเหลวในการจัดการวิกฤตช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และไม่จัดการกับจีน การถอนสหรัฐฯ ออกจาก WHO จะส่งผลกระทบต่องบประมาณสนับสนุน WHO เพราะสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนอันดับ 1 รวมทั้งความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ระหว่างประเทศ
คำสั่งยกเลิกสิทธิพลเรือนให้กับเด็ก (birthright citizenship) ที่เกิดจากครอบครัวผู้อพยพที่อยู่ในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย หรือพำนักในสหรัฐฯ แบบชั่วคราว เพื่อจัดการปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมายในสหรัฐฯ และปกป้องผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน อย่างไรก็ดี คำสั่งดังกล่าวขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มาตรา 14 และน่าจะทำให้เกิดปัญหาสังคมในระยะยาว
คำสั่งเปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโก (Gulf of Mexico) ให้เป็นอ่าวอเมริกา (Gulf of America) โดยมีผลบังคับใช้ในเอกสารราชการของสหรัฐฯ แต่ไม่มีผลต่อการเรียกชื่ออ่าวดังกล่าวของประเทศอื่น ๆ รวมทั้งในแอปพลิเคชัน Google Maps ด้านรัฐบาลเม็กซิโกระบุว่าสหรัฐฯ จะเรียกว่าอ่าวอเมริกาก็ได้ แต่จะไม่เปลี่ยนแปลงประเทศอื่น ๆ ที่ยังเรียกว่าอ่าวเม็กซิโกเหมือนเดิม
คำสั่งยอมรับเฉพาะเพศชายและหญิง และไม่ยอมรับเพศที่เปลี่ยนแปลงจากกระบวนการข้ามเพศ โดยประธานาธิบดีทรัมป์ให้เหตุผลว่าการยอมรับเพศที่เปลี่ยนแปลงไปจากชาย-หญิง ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม องค์กรปกป้องสิทธิและสนับสนุนความหลากหลายทางเพศมีแนวโน้มคัดค้านคำสั่งดังกล่าวผ่านศาลสูงสุดของสหรัฐฯ แต่อาจไม่ได้ผล เนื่องจากสมาชิกศาลสูงสุดในปัจจุบันส่วนมากสนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ สำหรับการยอมรับเฉพาะเพศชาย-หญิงอาจส่งผลกระทบต่อบุคคลข้ามเพศที่อาจตกอยู่ในอันตราย หากต้องเข้าเรือนจำ หรืออยู่ในสถานที่ที่ต้องแบ่งแยกตามเพศ