ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยืนยันเมื่อ 7 ก.พ.68 แนวคิดที่เสนอให้ย้ายถิ่นฐานของชาวปาเลสไตน์ออกจากฉนวนกาซา เพื่อให้ไปอยู่ในพื้นที่อื่นซึ่งปลอดภัยและจะเป็นผลดีต่อชาวปาเลสไตน์ในระยะยาว และอิสราเอลจะมอบดินแดนฉนวนกาซาให้กับสหรัฐฯ หลังจากเสร็จสิ้นปฏิบัติการทางทหารเพื่อปราบปรามและกวาดล้างกลุ่มฮะมาส เท่ากับเป็นการย้ำแนวคิดที่ผู้นำสหรัฐฯ จะยึดฉนวนกาซา และเสนอให้ชาวปาเลสไตน์ย้ายถิ่นไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย สวยงาม ทันสมัย มีเสรีภาพและมีความสุข จากนั้นสหรัฐฯ จะเปลี่ยนฉนวนกาซาให้เป็น “Riviera of the Middle East” หรือเมืองชายฝั่งท่าน้ำแห่งตะวันออกกลาง
อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่าแนวคิดนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวที่ยังไม่ได้หารือกับทีมที่ปรึกษาหรือผู้ช่วย ขณะที่นานาชาติ รวมทั้งนักการเมืองอเมริกันทั้งฝ่ายพรรครีพับลิกันและเดโมแครต คัดค้านแนวคิดดังกล่าว เพราะจะเป็นผลเสียต่อการสร้างสันติภาพในภูมิภาคตะวันออกกลางในระระยาว นอกจากนี้ จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ เพราะมีชาวปาเลสไตน์มากกว่า 2.3 ล้านคนที่จะได้รับผลกระทบจากแนวคิดนี้
ความคิดเห็นของประธานาธิบดีทรัมป์ทำให้ผู้นำอิสราเอลนำไปใช้สั่งการให้กองทัพอิสราเอลเตรียมพร้อมปฏิบัติการทางทหารเพื่อปราบปรามและกวาดล้างกลุ่มฮะมาสในฉนวนกาซาต่อไป แต่ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายพลเมืองชาวปาเลสไตน์ที่ยังอยู่ในพื้นที่ ด้าน จนท.กลาโหมของสหรัฐฯ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่ายังไม่มีรายละเอียดปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในฉนวนกาซา และเพิ่งได้รับทราบแนวคิดของผู้นำสหรัฐฯ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เช่นกัน ขณะที่สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยกับผู้นำสหรัฐฯ หากต้องมีการส่งทหารอเมริกันไปฉนวนกาซา
พร้อมกันนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามในคำสั่งผู้บริหารเมื่อ 7 ก.พ.68 คว่ำบาตรศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เนื่องจากมีคำตัดสินที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐฯ และอิสราเอล คำสั่งดังกล่าวมีผลให้ระงับวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯ แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสอบสวนและตัดสินของ ICC กรณีที่เกี่ยวกับสหรัฐฯ และพันธมิตร พร้อมกับย้ำว่า ICC มีมุมมองและวิธีการดำเนินการที่อันตรายต่อสันติภาพและประชาธิปไตย รวมทั้งบ่อนทำลายความมั่นคงของสหรัฐฯ และอิสราเอล ทั้งนี้ ICC ก่อตั้งเมื่อปี 2545 ตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute) โดยมี 120 ประเทศให้สัตยาบัน ปัจจุบันสหรัฐฯ และอิสราเอลไม่ได้ให้สัตยาบัน
ประธานาธิบดีทรัมป์ยังสั่งให้ กค.สหรัฐฯ คว่ำบาตรอิหร่านด้วย โดยเป็นการคว่ำบาตรครั้งแรกต่ออิหร่านในสมัยทรัมป์ 2.0 เป้าหมายสำคัญครั้งนี้คือเครือข่ายธุรกิจน้ำมันของอิหร่าน ทั้งบริษัทน้ำมัน บริษัทขนส่ง และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งธุรกิจในต่างประเทศที่สนับสนุนการส่งออกน้ำมันของอิหร่านด้วย ได้แก่ จีน อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนื่องจากสหรัฐฯ มีมุมมองว่ารัฐบาลอิหร่านใช้ประโยชน์จากการขายน้ำมัน เพื่อพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถด้านการทหาร