เจ้าหน้าที่ระดับสูงในสหรัฐฯ ชี้แจงรายละเอียดต่อสื่อมวลชนต่างประเทศ เกี่ยวกับนโยบายของสหรัฐฯ ต่อชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา เพื่อลดระดับความตึงเครียด หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ให้ความเห็นเมื่อ 5 ก.พ.68 ระหว่างการหารือกับผู้นำอิสราเอลที่ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ว่า สหรัฐฯ มีแผนจะยึดครองฉนวนกาซา โดยใช้คำว่า take over และก่อนหน้านี้เคยกล่าวว่าต้องการอพยพชาวปาเลสไตน์ออกจากฉนวนกาซาทั้งหมดเอย่างถาวร เพื่อส่งทหารอเมริกันเข้าไปประจำการและฟื้นฟูพื้นที่หลังเผชิญสงคราม ประธานาธิบดีทรัมป์ยังเสนอให้ชาวปาเลสไตน์ที่มีเกือบ 2 ล้านคน ย้ายออกจากกาซา เพื่อที่สหรัฐฯ จะส่งทหารไปบริเวณดังกล่าว และสร้างดินแดนนี้ให้มีที่อยุ่อาศัยที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเรียกว่า “Riviera of the Middle East.”
ท่าทีดังกล่าวของสหรัฐฯ ทำให้นานาชาติวิตกกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางที่คัดค้านและโจมตีท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ว่าเป็นความเห็นที่บ้าคลั่ง ไม่เป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงในตะวันออกกลาง ขณะเดียวกันก็ทำให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากวิตกว่าจะไม่ได้เดินทางกลับภูมิลำเนา เนื่องจากปัจจุบัน อิสราเอลเปิดเส้นทางเชื่อมฉนวนกาซากับอียิปต์แล้ว เพื่อเปิดทางให้ชาวปาเลสไตน์อพยพไปรับการรักษาพยาบาล
นายมาร์โค รูบิโอ รมว.กต.สหรัฐฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการเยือนประเทศในอเมริกาใต้ ชี้แจงว่าสหรัฐฯ ต้องการให้ชาวปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่เป็นการชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพบ้านเมืองที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม และเชื่อว่าเจตนาของผู้นำสหรัฐฯ นั้น ต้องการช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ให้มีที่พักอาศัยระหว่างรอการฟื้นฟูฉนวนกาซา ด้านโฆษกทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยืนยันว่า ผู้นำสหรัฐฯ เสนอแผนย้ายถิ่นชั่วคราว เพราะชาวปาเลสไตน์ยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตในฉนวนกาซาได้ สำหรับท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์เกี่ยวกับประเด็นนี้ เขาให้ความเห็นว่า คงจะดีกว่าถ้าชาวปาเลสไตน์สามารถบ้ายออกไปอย่างถาวร เพื่อไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและสวยงาม ไม่ถูกสังหารเหมือนตอนอยู่ในฉนวนกาซา ด้าน นรม.เบนจามิน เนทันยาอูของอิสราเอลเห็นด้วยความข้อเสนอของผู้นำสหรัฐฯ และระบุว่าเป็นแนวคิดที่ควรดำเนินการทันที เพื่อสร้างอนาคตที่ดีสำหรับทุกฝ่าย
อิยิปต์ จอร์แดน และพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้งซาอุดีอาระเบีย คัดค้านแผนการดังกล่าว เนื่องจากจะบั่นทอนเสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาค ขยายความขัดแย้ง และเป็นอุปสรรคต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบสองรัฐ (two-states solution) นอกจากนี้ นักการเมืองในสหรัฐฯ จำนวนมากคัดค้านการส่งทหารอเมริกันเข้าไปประจำการในฉนวนกาซา แม้ว่าจะเข้าไปเพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่หลังสงคราม เพราะควรจะให้ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ชาวปาเลสไตน์และอิสราเอลร่วมกันฟื้นฟูพื้นที่ และกำหนดมาตรการด้านความมั่นคงมากกว่า ขณะเดียวกัน ชาวอาหรับที่อยู่ในสหรัฐฯ จำนวนมากแสดงออกว่าคัดค้านแนวคิดของผู้นำสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มชาวอาหรับในรัฐมิชิแกน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ได้เดือนให้ประธานาธิบดีทรัมป์ระมัดระวังการแสดงความเห็นแบบสุดโต่ง แม้ว่าอาจจะเป็นเทคนิคการเจรจาต่อรองของผู้นำสหรัฐฯ คนนี้ แต่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศความมั่นคงและความปลอดภัยของชาวปาเลสไตน์