ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้อนรับและพบหารือกับสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 แห่งจอร์แดน ผู้นำจอร์แดนที่ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อ 11 ก.พ.68 เพื่อหารือเรื่องความร่วมมือทวิภาคีและสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 แห่งจอร์แดนถือว่าเป็นผู้นำชาติอาหรับคนแรกที่เยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการหลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นสู่ตำแหน่ง ที่ผ่านมา สหรัฐฯ กับจอร์แดนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดอย่างมาก เป็นพันธมิตรกัน โดยเฉพาะความร่วมมือด้านความมั่นคง และจอร์แดนเป็นประเทศที่รับผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์จำนวนมากตั้งแต่ปี 2491 ตลอดจนสนับสนุนให้แก้ไขความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ด้วยการเจรจาและแนวทางสองรัฐ (two-states solution)
บรรยากาศการหารือประเด็นความร่วมมือทวิภาคีเป็นไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ผู้นำยังมีความเห็นแตกต่างกันเรื่องการฟื้นฟูและบริหารจัดการฉนวนกาซา โดยประธานาธิบดีทรัมป์ยืนยันแนวคิดการอพยพชาวปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่ทั้งหมดอย่างถาวร เพื่อให้สหรัฐฯ เข้าไปพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ฉนวนกาซา เพื่อให้กลายเป็น “เพชร” ของภูมิภาค พร้อมทั้งเสนอให้จอร์แดนรับผู้อพยพชาวปาเลสไตน์บางส่วนไปด้วย ด้านสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 ปฏิเสธและคัดค้านแนวคิดดังกล่าว พร้อมยืนยันว่าแนวคิดนี้ขัดแย้งกับนโยบายของสหรัฐฯ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และย้ำว่าจอร์แดนไม่สามารถรับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพจำนวนมากได้ไปกว่าปัจจุบัน ซึ่งจอร์แดนดูแลชาวปาเลสไตน์จำนวนมากกว่า 3 ล้านคนแล้ว จอร์แดนยังคงยืนยันจุดยืนเดิมร่วมกับประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง อียิปต์ รวมทั้งสหประชาชาติ (UN) ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของประธานาธิบดีทรัมป์
สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 แห่งจอร์แดนไม่ได้ปฏิเสธหรือคัดค้านแนวคิดของผู้นำสหรัฐฯ โดยตรง แต่แสดงความเห็นว่าต้องพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคโดยรับฟังแนวทางของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคด้วย โดยเฉพาะอียิปต์และประเทศอาหรับอื่น ๆ เพื่อให้แนวทางแก้ไขปัญหาเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย ไม่ควรด่วนตัดสินใจหรือดำเนินการโดยไม่เตรียมความพร้อม พร้อมทั้งย้ำว่าจอร์แดนไม่สนับสนุนให้ชาวปาเลสไตน์ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์ และนานาชาติควรให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นอันดับแรก
การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ยืนยันแนวคิดอพยพชาวปาเลสไตน์ในการหารือกับผู้นำจอร์แดนครั้งนี้ ทำให้สื่อประเมินว่าผู้นำสหรัฐฯ กำลังพยายามกดดันจอร์แดน เนื่องจากมั่นใจว่าการให้สหรัฐฯ ควบคุมดูแลการฟื้นฟูและพัฒนาฉนวนกาซาแบบถาวร จะเป็นผลดีต่อการสร้างสันติภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง และทำให้ชาวปาเลสไตน์ได้ย้ายไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยระยะยาว โดยสหรัฐฯ จะสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยแบบถาวรให้ชาวปาเลสไตน์นอกพื้นที่ฉนวนกาซา จำนวน 6 แห่ง ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม แต่คาดว่าประเทศในตะวันออกกลางจะยังคัดค้านแนวคิดนี้ต่อไป ขณะที่ชาวปาเลสไตน์ในต่างประเทศ รวมทั้งในสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านแนวคิดนี้มากขึ้นเช่นกัน