สื่อมวลชนสหรัฐฯ รายงานเมื่อ 15 ก.พ.68 ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เตรียมพร้อมการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดยจะส่งทีมของสหรัฐฯ ไปเจรจาที่ซาอุดีอาระเบีย และจะไม่มีผู้แทนจากประเทศยุโรปเข้าร่วม สำหรับทีมงานของสหรัฐฯ จะประกอบด้วยนาย Mike Waltz ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Marco Rubio รมว.กต. สหรัฐฯ และนาย Steve Witkoff ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการตะวันออกกลาง ขณะที่นาย Keith Kellogg ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการรัสเซีย-ยูเครนจะไม่ได้เข้าร่วม ด้านรัฐบาลยูเครนระบุว่ายังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการเจรจาดังกล่าว และยังไม่เตรียมส่งผู้แทนไม่เข้าร่วม
นโยบายของสหรัฐฯ ต่อการแก้ไขปัญหารัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้ เปิดเผยในช่วงที่ประเทศยุโรปและพันธมิตรกำลังจัดการประชุมความมั่นคง Munich Security Conference (MSC) ครั้งที่ 61 ระหว่าง 14-16 ก.พ.68 ที่เยอรมนี ทำให้ที่ประชุมเผยแพร่แถลงการณ์ย้ำว่า บทบาทของยุโรปสำคัญอย่างมากต่อการสร้างความมั่นคงและสันติภาพของยูเครน ขณะที่รองประธานาธิบดี JD Vance ที่เข้าร่วมการประชุม MSC ใช้โอกาสนี้ตั้งคำถามและโจมตีประเทศในยุโรปเมื่อ 14 ก.พ.68 ว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในภูมิภาคได้ เช่น ปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมาย และละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อและประชาชน รวมทั้งระบุว่าสหรัฐฯ เริ่มไม่มั่นใจว่าการลงทุนเพื่อปกป้องยุโรปนั้นคุ้มค่าหรือไม่ เพราะภัยคุกคามของยุโรปส่วนใหญ่มาจากภัยคุกคามภายใน มากกว่าภัยคุกคามภายนอกอย่างรัสเซียหรือจีน ท่าทีดังกล่าวทำให้ประเทศยุโรปกังวลว่า สหรัฐฯ กำลังเปลี่ยนนโยบาย และท่าทีของรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจทำให้รัสเซียเข้าใจว่าความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรปกำลังถดถอย เป็นการส่งสัญญาณที่อันตรายต่อความมั่นคงโลก
ประเทศยุโรป โดยเฉพาะสมาชิกเนโต มีท่าทีไม่พอใจการตัดสินใจท่าทีของรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมทั้งนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ไม่ให้ผู้แทนของยุโรปเข้าร่วมการเจรจาดังกล่าว ตลอดจนกรณีผู้นำสหรัฐฯ โทรศัพท์หารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย โดยมีรายงานเมื่อ 16 ก.พ.68 ว่า ประเทศยุโรป นำโดยฝรั่งเศส จะจัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ เนื่องจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของยุโรปโดยตรง และก่อนหน้านี้ สมาชิกเนโตได้แจ้งกับผู้นำสหรัฐฯ แล้วว่าต้องมีตัวแทนของประเทศยุโรปเข้าร่วมการเจรจาด้วย ตลอดจนต้องทำให้มั่นใจว่า การเจรจาจะไม่เปิดโอกาสให้รัสเซียระดมกำลังและอาวุธเพื่อโจมตียูเครนหรือยุโรป
ผู้นำยูเครนระบุว่าไม่เชื่อใจประธานาธิบดีปูติน แม้ว่าผู้นำสหรัฐฯ จะบอกว่าประธานาธิบดีปูตินต้องการสันติภาพ แต่ผู้นำยูเครนเชื่อว่าประธานาธิบดีปูตินโกหก ปัจจุบันผู้นำสหรัฐฯ ยังไม่แสดงท่าทีเพิ่มเติม แต่เชื่อว่าการเจรจาครั้งนี้จะมีความสำคัญต่อภาพลักษณ์การบริหารงานต่างประเทศของรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์อย่างมาก หากดำเนินการสำเร็จจะเป็นการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครนครั้งแรกตั้งแต่สงครามเริ่มต้นเมื่อปี 2565 และยังเป็นการทำตามที่หาเสียงไว้ด้วย