ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กำลังเร่งรัดดำเนินนโยบายทั้งภายในประเทศและในต่างประเทศตามแนวทางที่เคยหาเสียงไว้ โดยหลังจากสาบานตนรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ เมื่อ 20 ม.ค.68 ประธานาธิบดีทรัมป์เริ่มต้นการปฏิรูประบบราชการ สั่งการเข้มงวดการตรวจสอบผู้อพยพผิดกฎหมาย ออกคำสั่งผู้บริหารหลายฉบับเพื่อยกเลิกสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อทวงคืนสถานะมหาอำนาจอันดับ 1 ของสหรัฐฯ ที่มีอำนาจต่อรองและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขัดแย้งต่าง ๆ ตลอดจนการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ที่สำคัญ คือ นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การสนับสนุนข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิราเอล-กลุ่มฮะมาส และการส่งสัญญาณให้พันธมิตรในยุโรปทุ่มเทเพื่อปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของภูมิภาคมากขึ้น รวมทั้งมีแผนจะเจรจากับรัสเซียเรื่องสถานการณ์ในยูเครน แต่สหรัฐฯ อาจดำเนินการโดยไม่ให้ประเทศยุโรปเข้าร่วมด้วย
การเร่งดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของประธานาธิบดีทรัมป์อาจเป็นผลดีต่อการสร้างภาพลักษณ์การเปลี่ยนแปลงของสหรัฐฯ ที่แข็งกร้าวและชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูประบบราชการ การแก้ไขปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมาย และการขึ้นภาษีนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อกดดันให้ประเทศคู่ค้าดำเนินนโยบายตอบสนองผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน รวมทั้งความพยายามในการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งในพื้นที่สำคัญของโลก ได้แก่ ฉนวนกาซาและยูเครน และจะเป็นผลดีต่อการสร้างผลงานทางการเมืองในช่วง 100 วันแรกของรัฐบาลชุดใหม่ ที่เป็นช่วงเวลาสำคัญในการประเมินขีดความสามารถของรัฐบาล ซึ่งชาวอเมริกันให้ความสำคัญและอาจมีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้งในครั้งต่อไป
การดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์อย่างรวดเร็ว ผ่านการออกคำสั่งผู้บริหาร และการทำงานร่วมกับนาย Elon Musk อาจเผชิญความท้าทายในอนาคต เนื่องจากท่าทีของผู้นำและคณะรัฐมนตรีสหรัฐฯ อาจสร้างความขัดแย้งในสังคมอเมริกันมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นผู้อพยพและสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งการปฏิรูประบบราชการ ที่มีข้าราชการพลเรือนได้รับผลกระทบอย่างมาก มีมุมมองว่าเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ และปล่อยให้นักธุรกิจอย่างนาย Musk มีอำนาจทางการเมืองมากเกินไป อาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของประธานาธิบดีทรัมป์ร่วมกับหน่วยงานราชการอื่น ๆ รวมทั้งอาจมีประเด็นละเมิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ
นโยบายต่างประเทศที่ท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ค่อนข้างแข็งกร้าวและสุดโต่ง อาจทำให้พันธมิตรของสหรัฐฯ ไม่เชื่อมั่นทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ขณะที่การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในสหรัฐฯ ตลอดจนบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศต่าง ๆ เตรียมความพร้อมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เช่นกัน ส่วนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ขัดแย้งระหว่างประเทศ ก็ยังสร้างความกังวลอย่างมาก จากกรณีผู้นำสหรัฐฯ ประกาศจะอพยพชาวปาเลสไตน์ออกจากฉนวนกาซาแบบถาวร และกรณีจะเจรจากับรัสเซียเพื่อสร้างสันติภาพในยูเครน โดยไม่ได้เชิญผู้แทนจากยูเครนและประเทศยุโรปเข้าร่วม สร้างความวิตกกังวลให้นานาชาติ เพราะบทบาทของสหรัฐฯ อาจไม่ยุติธรรมและเอื้อประโยชน์ให้กับบางประเทศเท่านั้น
รวมทั้งสงครามอาจไม่ยุติโดยง่าย หากยุโรปไม่สนับสนุน และช่วยเหลือ