ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เมื่อ 28 ก.พ.68 ประกาศจะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนร้อยละ 10 เพื่อกดดันจีนให้แก้ไขปัญหาการขายยาเสพติดไปยังสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ เชื่อว่ายาเสพติดเฟนทานิลผลิตจากจีน ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะเพิ่มเติมจากภาษีนำเข้าร้อยละ 10 ที่สหรัฐฯ ใช้กับสินค้าจีนไปแล้วเมื่อต้น ก.พ.68 ส่วนมาตรการเพิ่มเติมครั้งใหม่นี้จะเริ่มใช้ใน 5 มี.ค.68 ทำให้สินค้าจีนจะต้องเสียภาษีสูงมาก ทางรัฐบาลจีนไม่พอใจและประกาศจะตอบโต้มาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ และย้ำว่าผู้นำสหรัฐฯ พยายามใช้เรื่องยาเสพติดเฟนทานิลเป็นข้ออ้างในการข่มขู่และกดดันจีน พร้อมกันนี้ ฝ่ายจีนระบุว่าที่ผ่านมาได้แสดงความพร้อมที่ขจะร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่การที่ผู้นำสหรัฐฯ ยังคงขู่ใช้มาตรการภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอย่างไม่เป็นธรรม จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศความร่วมมือระหว่างกันด้วย
นอกจากจีน ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศว่าจะเริ่มใช้มาตรการภาษีนำเข้าร้อยละ 25 ต่อสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาใน 4 มี.ค.68 หลังจากที่เลื่อนมา เนื่องจากได้รับรายงานว่ายังมียาเสพติดไหลทะลักเข้าสหรัฐฯ ผ่านพรมแดนเม็กซิโกและแคนาดาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นักธุรกิจและผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ค่อนข้างห่วงกังวลการใช้นโยบายภาษีกดดันประเทศคู่ค้า เนื่องจากส่งผลต่อความเชื่อมั่นในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ รวมทั้งจะส่งผลต่อราคาสินค้าในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาจยิ่งซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ชาวอเมริกันเองก็ยังไม่พอใจผลงานของรัฐบาล แต่ประธานาธิบดีทรัมป์เชื่อมั่นอย่างมากว่านโยบายภาษีจะไม่ส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ
ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุด้วยว่า ใน 2 เม.ย.68 จะประกาศรายละเอียดมาตรการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก หลังจากที่ให้หน่วยงานต่าง ๆ ด้านการค้าและเศรษฐกิจพิจารณาแล้ว เป้าหมายเพื่อรักษาดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศต่าง ๆ และปกป้องผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน คาดว่าในช่วง มี.ค.68 นานาชาติจะเร่งเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อให้ทบทวนมาตรการภาษี และต่อรองผลประโยชน์เพื่อปกป้องการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ต่อไป
นอกจากความคืบหน้าเรื่องมาตรการภาษี ประธานาธิบดีทรัมป์ได้พบหารือกับผู้นำสหราชอาณาจักรที่ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก เมื่อ 27 ก.พ.68 ทั่วโลกจับตามองอย่างใกล้ชิดเพราะทั้ง 2 เป้นผู้นำประเทศที่มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกันอย่างมาก ผลการหารือต่างฝ่ายต่างส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะปกป้องผลประโยชน์ห่างชาติ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ และจะร่วมมือกันส่งสเริมความมั่นคงของเนโตต่อไป ประธานาธิบดีทรัมป์ยังมีกำหนดหารือกับผู้นำยูเครนที่ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อ 28 ก.พ.68 คาดว่าสหรัฐฯ คาดหวังให้ยูเครนลงนามในข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์ที่ได้จากอุตสาหกรรมแร่ธรรมชาติ และแร่หายาก ส่วนยูเครนคาดหวังให้สหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนและช่วยเหลือด้านความมั่นคงให้ยูเครน