ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ระบุเมื่อ 3 เมษายน 2568 ว่า สหรัฐฯ พร้อมเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อทบทวนนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยแนะนำให้ประเทศอื่น ๆ มีข้อเสนอสำคัญมากพอที่จะโน้มน้าวให้สหรัฐฯ เปลี่ยนนโยบาย นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ยังเชื่อมั่นว่านโยบายของเขาจะประสบความสำเร็จในการสร้างความมั่นคทางเศรษฐกิจให้ชาวอเมริกัน ตลอดจนสร้างอำนาจการต่อรองให้สหรัฐฯ ในความร่วมมือต่าง ๆ มากขึ้น และประเมินว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ จะกลับมามั่นคงเร็ว ๆ นี้ แม้ว่าปัจจุบันจะผันผวนและตกต่ำลงอย่างมาก เพราะนักลงทุนวิตกว่านโยบายภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่แน่นอน นักวิเคราะห์บางส่วนประเมินว่านโยบายของสหรัฐฯ ครั้งนี้ทำให้เกิดระเบียบเศรษฐกิจโลกแบบไม่แน่นอน (uncertainty) ซึ่งเป็นยุคใหม่ที่สหรัฐฯ เองอาจได้รับผลกระทบและเผชิญเศรษฐกิจถดถอยได้เช่นกัน
ผู้นำสหรัฐฯ ยังไม่ได้ให้คำมั่นว่าเมื่อเจรจาแล้วจะยกเลิกมาตรการขึ้นภาษีตอบโต้ต่อประเทศคู่ค้าเสมอไป ขึ้นอยู่กับข้อแลกเปลี่ยน พร้อมกับเปิดเผยว่าตั้งแต่ประกาศนโยบายภาษีตอบโต้ มีผู้นำต่างประเทศจำนวนมากติดต่อเข้าไปเพื่อเจรจาโดยตรง แม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะยังเชื่อมั่นในการดำเนินนโยบายขึ้นภาษีตอบโต้ แต่นานาชาติก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ รวมทั้งองค์กรการเงินระหว่างประเทศ เช่น IMF ประเมินว่านโยบายของสหรัฐฯ สร้างความเสี่ยงให้เศรษฐกิจโลก ขณะนี้ IMF อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและเตรียมให้คำแนะนำ พร้อมกับเรียกร้องให้สหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าต่าง ๆ เร่งเจรจาเพื่อแก้ไขอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันโดยเร็ว คาดว่า IMF จะใช้การประชุมประจำปีที่จะมีขึ้นในปลาย เมษายน 2568 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นเวทีเรียกร้องให้สหรัฐฯ ปรับนโยบายการค้าให้เอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกมากขึ้น
แม้ว่าผู้นำสหรัฐฯ พร้อมเจรจา และวางบทบาทตนเองเป็นนักทำข้อตกลง (dealmaker) รวมทั้งผู้ขับเคลื่อนทิศทางการค้าโลก แต่การประกาศขึ้นภาษีตอบโต้ครั้งนี้ที่ครอบคลุมประเทศที่มีข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ อยู่แล้วด้วย ทำให้ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ จำนวนมากไม่พอใจและประกาศว่าจะตอบโต้ในระดับเดียวกัน เช่น แคนาดา ยุโรป และจีน อย่างไรก็ตาม ทั้งแคนาดา ยุโรป และจีนส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ มากกว่านำเข้า ดังนั้น การขู่จะตอบโต้ด้วยมาตรการรูปแบบเดียวกันอาจไม่สามารถกดดันรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่าจีนตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการประกาศว่านโยบายภาษีของทรัมป์ขัดแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศ คาดว่าจีนอาจใช้วิธีการสร้างภาพลักษณ์เชิงลบให้สหรัฐฯ เพื่อชิงความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์การแข่งขันอิทธิพลของมหาอำนาจต่อไป