สถานการณ์ความขัดแย้งและความตึงเครียดจากการปะทะกันทางทหารระหว่างอินเดียกับปากีสถานยังเปราะบาง แม้มีรายงานเมื่อ 10 พฤษภาคม 2568 ว่า อินเดียและปากีสถานทำข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวระหว่างกัน เพื่อลดระดับความเสียหายจากเหตุความรุนแรงและความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นสูง เพราะต่างฝ่ายต่างใช้ปฏิบัติการทางทหารตอบโต้ข้ามพรมแดนระหว่างกัน จนทำให้มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 70 คน และสถานการณ์เสี่ยงลุกลามบานปลายเป็นสงครามระหว่างประเทศ
ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางทหารของกองทัพอินเดีย (DGMO) เปิดเผยเมื่อ 11 พฤษภาคม 2568 ว่า ตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมงที่มีการใช้ข้อตกลงหยุดยิง ทั้งอินเดียและปากีสถานต่างก็ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด ตลอดจนมีการใช้ช่องทางสื่อสารฉุกเฉิน หรือ hotline เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางการทหารระหว่างกันด้วย อย่างไรก็ดี อินเดียเฝ้าระวังและติดตามความเคลื่อนไหวของปากีสถานอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความมั่นคง ด้านปากีสถานยืนยันว่าปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงอย่างเคร่งครัด และเริ่มกล่าวโทษอินเดียว่าเป็นฝ่ายละเมิดข้อตกลงดังกล่าว จนทำให้ยังมีการปะทะกันในบางพื้นที่
สื่อต่างประเทศรายงานว่าสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอินเดียกับปากีสถาน โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เป็นผู้ประกาศข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวเมื่อ 10 พฤษภาคม 2568 ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ หารือกับผู้นำปากีสถานอย่างใกล้ชิดเพื่อควบคุมสถานการณ์และหาทางออกสำหรับความตึงเครียดครั้งนี้ ที่น่าสนใจอย่างมาก คือ ทางการอินเดียไม่ให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความพยายามหรือบทบาทของสหรัฐฯ ในครั้งนี้
แม้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ละเมิดข้อตกลงหยุดยิงและการปะทะกันอีก เนื่องจากปากีสถานและอินเดียยังไม่เชื่อมั่นระหว่างกัน และยังไม่มีความชัดเจนเรื่องความคืบหน้าการสืบสวนเหตุโจมตีนักท่องเที่ยวในเมือง Pahalgam ดินแดนสหภาพจัมมูและแคชเมียร์ ซึ่งอินเดียยังคงเชื่อว่าปากีสถานมีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้ปัจจุบัน สถานการณ์ด้านความมั่นคงบริเวณพรมแดนของทั้ง 2 ประเทศยังน่าห่วงกังวล ประชาชนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวต้องอพยพจากพื้นที่ โดยเฉพาะในดินแดนสหภาพจัมมูและแคชเมียร์ที่ตกเป็นพื้นที่ปะทะระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ปัจจุบันประชาชนบางส่วนเริ่มเดินทางกลับเข้าพื้นที่ได้ ขณะที่รัฐบาลเร่งซ่อมแซมอาคารที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีทางการทหาร
นานาชาติยังคงติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานอย่างใกล้ชิด ส่วนหนึ่งเพราะกังวลว่าหากลุกลามบานปลายเป็นสงครามระหว่างประเทศ อาจทำให้ต้องประเมินความเป็นไปได้ที่อินเดียและปากีสถานจะใช้อาวุธที่มีเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ปัจจุบัน สถาบันวิชาการ CSIS ประเมินว่าอินเดียมีขีปนาวุธที่ติดหัวรบนิวเคลียร์จำนวนอย่างน้อย 180 ลูก มากกว่าปากีสถานที่มีอยู่ประมาณ 170 ลูก ส่วนเทคโนโลยีการพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ของทั้ง 2 ประเทศมีมหาอำนาจสนับสนุนที่แตกต่างกัน โดยอินเดียได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย ส่วนปากีสถานได้รับการพัฒนาจากจีน