นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิมของมาเลเซีย เยือนกรุงมอสโกของรัสเซียเมื่อ 13-16 พฤษภาคม 2568 อย่างเป็นทางการตามคำเชิญของประธานาธิบดีวลาร์ดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ทั้งสองฝ่ายได้พบหารือกันเมื่อ 14 พฤษภาคม 2568 การเยือนรัสเซียครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีอิบราฮิมรับตำแหน่งเมื่อปี 2565 ซึ่งครั้งแรกได้พบกับประธานาธิบดีปูตินอย่างไม่เป็นทางการระหว่างที่นายกรัฐมนตรีอิบราฮิมเข้าร่วมประชุม Eastern Economic Forum ที่เมืองวลาดิวอสต็อก เมื่อปี 2567
ผลการพบหารือระหว่างผู้นำของทั้ง 2 ประเทศ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียระบุว่ารัสเซียเป็นมิตรประเทศที่ยิ่งใหญ่ของมาเลเซีย และความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศจะขยายตัวต่อไป ทั้งในมิติความมั่นคง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ผู้นำมาเลเซียคาดหวังว่ารัสเซียกับมาเลเซียจะมีความร่วมมืออย่างเป็นทางการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอาหาร การพัฒนาด้านดิจิทัล เทคโนโลยีอวกาศ การพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งความร่วมมือด้านการหหาร
นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังหารือโดยตรงกับนายกรัฐมนตรี Mikhail Mishustin ของรัสเซียเมื่อ 14 พฤษภาคม 2568 รวมทั้งใช้โอกาสดังกล่าวเชิญนายกรัฐมนตรีรัสเซียเยือนมาเลเซียด้วย ประเด็นสำคัญที่ผู้นำมาเลเซียต้องการบรรลุข้อตกลงจากการเยือนครั้งนี้ คือ กระชับความสัมพันธ์กับรัสเซีย โดยเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างประเทศอีกครั้ง ด้วยสายการบิน Aeroflot ซึ่งจะเป็นสัญลักษณ์บ่งชี้การขยายความสัมพันธ์และส่งเสริมบทบาทการเป็นศูนย์กลางการเดินทางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมาเลเซีย ตลอดจนเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การดำเนินธุรกิจและการแลกเปลี่ยนประชาชนระหว่างกัน
นอกจากการพบหารือกับผู้นำทางการเมืองระดับสูง นายกรัฐมนตรีมาเลเซียมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมนานาชาติ International Economic Forum Russia – Islamic World : KazanForum ที่เมือง Kazan ของรัสเซียด้วย ระหว่าง 15-16 พฤษภาคม 2568 ซึ่งจะเสนอให้มาเลเซียเป็นพื้นที่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียกับประเทศโลกมุสลิมอีกด้วย
ด้านสื่อมวลชนรัสเซียรายงานผลการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตครั้งนี้ว่า มาเลเซียเป็นประเทศหุ้นส่วนที่สำคัญของรัสเซีย เป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้ และคาดหวังว่าความร่วมมือด้านเศรษฐกิจจะเติบโตต่อไป นอกจากนี้ ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียสนับสนุนบทบาทของมาเลเซียในฐานประธานอาเซียนในปี 2568 ซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนความร่วมมือระดับพหุภาคีในภูมิภาคอย่างมาก รวมทั้งส่งสัญญาณว่าบทบาทของมาเลเซียจะช่วยให้ความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับรัสเซียใกล้ชิดกันมากขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญในมาเลเซียสนับสนุนให้รัฐบาลเพิ่มความร่วมมือกับรัสเซีย เนื่องจากประเมินว่ามาเลเซียจำเป็นต้องพัฒนาความสัมพันธ์กับมหาอำนาจอย่างหลากหลาย เพราะปัจจุบันการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ไม่แน่นอน รวมทั้งมาเลเซียยังมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการแข่งขันอิทธิพลระหส่างสหรัฐฯ กับจีน และสหรัฐฯ กับรัสเซีย ขณะที่รัสเซียเป็นมหาอำนาจที่มีเทคโนโลยีที่ตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติของมาเลเซียได้ จึงเห็นว่าการพัฒนาความร่วมมือกับรัสเซียจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศและการพัฒนาของมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม การที่มาเลเซียพัฒนาความสัมพันธ์กับรัสเซีย ซึ่งรวมทั้งล่าสุดจากการที่มาเลเซียได้เป็นประเทศหุ้นส่วนของสมาชิกกลุ่ม BRICS เมื่อตุลาคม 2567 หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียได้เดินทางเยือนมาเลเซียเมื่อกรกฎาคม 2567 ทำให้สหรัฐฯ หวาดระแวงและมองว่ามาเลเซียให้ความสำคัญกับรัสเซียอย่างมาก จึงมีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ จะติดตามการดำเนินนโยบายของมาเลเซียอย่างใกล้ชิด