กระทรวงมหาดไทยสิงคโปร์เมื่อ 1 กรกฎาคม 2568 เริ่มใช้กฎหมายอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสิงคโปร์มีสิทธิอายัดบัญชีธนาคารที่มีหลักฐานหรือความเสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์ โดยกฎหมายดังกล่าวชื่อ The Protection from Scams Act 2025 ผ่านความเห็นชอบเมื่อ มกราคม 2568 เพื่อเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในการปราบปรามและสกัดกั้นเครือข่ายมิจฉาชีพออนไลน์ ซึ่งเป็นความท้าทายด้านเศรษฐกิจและสังคมของสิงคโปร์อย่างมาก มีรายงานว่าตั้งแต่ปี 2562 สิงคโปร์สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ เฉพาะเมื่อปี 2567 มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจสิงคโปร์ไม่สามารถช่วยเหลือและป้องกันได้ทั้งหมด เนื่องจากไม่มีกฎหมายควบคุมการทำธรุกรรมทางการเงินกับธนาคาร
สำหรับรายละเอียด กฎหมายนี้จะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถออกเอกสาร Restriction Orders หรือ ROs เพื่ออายัดบัญชีและการดำเนินธุรกรรมทางการเงินของบัญชีที่มีความเสี่ยง โดยจะพิจารณาอายัดบัญชีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เจ้าของบัญชีและบุคคลใกล้ชิดให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ และหากเห็นว่ามีความเสี่ยง เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีสิทธิอายัดบัญชีดังกล่าวได้นาน 30 วัน เพื่อป้องกันความปลอดภัยและไม่ให้มิจฉาชีพหลอกลวง ทั้งนี้ ธนาคารในสิงคโปร์ที่จะอยู่ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ได้แก่ DBS Bank, the Oversea-Chinese Banking Corporation, United Overseas Bank, Citibank, the Hongkong and Shanghai Banking Corporation, Malayan Banking Berhad และ Standard Chartered Bank ซึ่งเป็น 7 ธนาคารที่มีผู้ใช้บัญชีจำนวนมาก นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีสิทธิออกเอกสาร ROs ต่อธนาคารอื่น ๆ ด้วย หากพบว่าเจ้าของบัญชีมีความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่หลอกลวงให้โอนเงินหรือทำธุรกรรมผิดกฎหมาย
แม้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิอายัดบัญชีได้นาน 30 วัน รวมทั้งสามารถขยายระยะเวลาได้ 5 ครั้ง แต่คำสั่งอายัดบัญชีอาจยกเลิกได้หากตรวจสอบแล้วว่าบัญชีนั้นปลอดภัย นอกจากนี้ เจ้าของบัญชียังสามารถขออนุญาตเข้าถึงบัญชีของตนได้หากมีกรณีจำเป็นเร่งด่วน เช่น การชำระค่าบริการทั่วไป โดยจะต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกครั้ง
กฎหมายใหม่ของสิงคโปร์อาจช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและบรรเทาปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ ที่ปัจจุบันมีจำนวนมากและเหยื่อส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเต็มใจที่จะทำธุรกรรมหรือโอนเงินให้มิจฉาชีพ เนื่องจากหลงเชื่อข้อมูล และเป็นเหยื่อจากการทำวิศวกรรมสังคม (social engineering) นอกจากนี้ มีรายงานว่าในห้วงปี 2567-68 มีเจ้าหน้าที่รัฐของสิงคโปร์ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์จำนวนมาก โดยถูกหลอกว่าเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันและการฟอกเงิน ทำให้เหยื่อวิตกกังวลและหลงเชื่อจนยอมโอนเงินให้เพราะเชื่อว่าจะได้รับประโยชน์ในระหว่างการสืบสวนคดี นอกจากนี้ กลุ่มที่เป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ในสิงคโปร์ ได้แก่ ผู้ที่หลงเชื่อโฆษณาการลงทุน สินค้าและบริการฟรีในสื่อสังคมออนไลน์ ทั้ง Facebook, Instagram และ TikTok ทำให้เหยื่อหลงไปกดลิงค์เชื่อมไปยังเว็บไซต์ปลอม (phishing sites) จากนั้นหลอกให้กรอกรายละเอียดบัญชีธนาคารและบัตรเครดิต