การประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) ปี 2568 ที่เมืองริโอเดจาเนโร บราซิล ระหว่าง 6-7 กรกฎาคม 2568 นี้ น่าจับตามองอย่างมาก เนื่องจากผู้นำของประเทศมหาอำนาจในกลุ่ม BRICS ที่เป็นสมาชิกก่อตั้งของกลุ่มถึงสองประเทศจะไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ คือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย โดยมีเหตุผลแตกต่างกัน ทั้งนี้ อาจต้องจับตามองว่า การที่ผู้นำของทั้งสองประเทศไม่ได้เข้าร่วมประชุม จะส่งผลต่อความโดดเด่นของ BRICS ในเวทีโลกหรือไม่ เพราะเป็นที่รับรู้กันว่ากลุ่ม BRICS ตั้งขึ้นมาเพื่อคานอิทธิพลของกลุ่มประเทศตะวันตก
เหตุผลที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS ได้ตามที่สื่อของจีนรายงาน ได้แก่ ผู้นำจีนมีกำหนดการอื่นในช่วงดังกล่าว และในช่วงไม่ถึง 1 ปี ผู้นำจีนได้พบกับประธานาธิบดี Luiz Inacio Lula da Silva ของบราซิล ถึง 2 ครั้งแล้ว แต่กระทรวงการต่างประเทศของจีนก็แถลงว่าจีนให้ความสำคัญกับบราซิลที่เป็นประธานกลุ่มในปี 2568 ส่วนคนที่จะเข้าร่วมประชุมแทน คือ นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียง
เหตุผลที่ประธานาธิบดีปูตินจะประชุมทางไกลกับกลุ่ม BRICS โดยไม่เดินทางไปบราซิล เกี่ยวกับประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ เนื่องจากไม่ต้องการเสี่ยงในความยุ่งยาก หากมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น การถูกบราซิลจับกุม เพราะบราซิลได้ลงนามในสนธิสัญญากับศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court-ICC) และ ICC ก็มีหมายจับประธานาธิบดีปูตินในข้อหาอาชญากรสงครามจากการทำสงครามกับยูเครน ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียระบุว่า ทางรัฐบาลบราซิลไม่สามารถให้ความชัดเจนได้ในสถานะของประธานาธิบดีปูตินในการประชุมครั้งนี้ ส่วนคนที่จะเข้าร่วมประชุมสุดยอด BRICS แทนประธานาธิบดีปูติน คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
เมื่อปี 2566 ที่ ICC ออกหมายจับกุม ประธานาธิบดีปูตินก็ได้เดินทางไปประเทศแอฟริกาใต้ เพื่อเข้าประชุมสุดยอด BRICS และเมื่อปี 2567 ก็เดินทางเยือนมองโกเลีย ซึ่งทั้งสองประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญากับ ICC ขณะที่รัสเซียไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญานี้กับ ICC ซึ่งสะท้อนว่าประธานาธิบดีปูตินไม่ได้กังวลกับหมายจับของ ICC แต่ประเทศเจ้าภาพต้องให้ความมั่นใจสถานะของประธานาธิบดีปูตินในการเดินทางไปเยือน หรือเข้าร่วมประชุม
การที่ทั้งผู้นำจีนและรัสเซียไม่ได้เดินทางไปเข้าร่วมประชุม BRICS อาจทำให้บทบาทของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ของอินเดีย น่าจะโดดเด่นมากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีโมดิ นอกจากจะเข้าร่วมประชุม BRICS ซึ่งมีแนวคิดหลักคือ Inclusive and Sustainable Global South และมีการหารือกันประเด็นความเคลื่อนไหวในโลก เช่น ความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ เศรษฐกิจโลก และสภาพภูมิอากาศ แล้วยังจะผลักดันวาระการต่อต้านการก่อการร้ายระดับโลก รวมถึงนำเสนอวิสัยทัศน์ของอินเดียสำหรับกลุ่มประเทศโลกใต้ (Global South)
นายกรัฐมนตรีโมดิยังจะเดินทางเยือนอีก 4 ประเทศ ได้แก่ กานา ตรินิแดดและโตเบโก อาร์เจนตินา และนามิเบีย เพื่อหารือประเด็นด้านความมั่นคง แร่ธาตุหายาก ความร่วมมือการต่อต้านการก่อการร้าย และความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (South-South Cooperation) ทั้งนี้ อินเดียจะเป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุม BRICS ในปี 2569
———————-