กรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศอัตราภาษีตอบโต้ต่อประเทศคู่ค้าจำนวน 23 ประเทศ เมื่อ 7 กรกฎาคม 2568 ทำให้ประเทศในเอเชียจำนวนมากไม่พอใจแนวนโยบายของผู้นำสหรัฐฯ เพราะมีประเทศในเอเชีย 14 ประเทศได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว รวมทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ พันธมิตรด้านความมั่นคงที่ใกล้ชิดของสหรัฐฯ และพยายามเจรจากับสหรัฐฯ มาโดยตลอด เพื่อต่อรองให้ลดอัตราภาษีตอบโต้
ประธานาธิบดีทรัมป์ยังเน้นย้ำว่า มาตรการดังกล่าวเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ เฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเสียดุลการค้ากับต่างประเทศ โดยจะมีผลบังคับใช้ใน 1 สิงหาคม 2568 แต่ละประเทศเผชิญอัตราภาษีตอบโต้ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ยังจะไม่ยุติการใช้มาตรการภาษีกดดันประเทศคู่ค้า โดยเมื่อ 10 กรกฎาคม 2568 ประกาศจะใช้อัตราภาษีตอบโต้สินค้าจากแคนาดาร้อยละ 35 และพร้อมจะเพิ่มอัตราภาษีต่อประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ด้วย ท่าทีดังกล่าวมีขึ้นในช่วงที่สหรัฐฯ และแคนาดากำลังเจรจากันเรื่องนโยบายการค้าและการลงทุน โดยคาดว่าจะบรรลุข้อตกลงได้ใน 21 กรกฎาคม 2568 ดังนั้น การขู่ขึ้นภาษีร้อยละ 35 น่าจะเพื่อกดดันแคนาดาที่เป็นคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ให้ยอมรับข้อเสนอและเงื่อนไขของสหรัฐฯ มากขึ้น
ประเทศที่จะเผชิญอัตราภาษีตอบโต้ใน 1 สิงหาคม 2568 เรียงจากอัตรามากไปน้อย ได้แก่ สปป.ลาว และเมียนมา ร้อยละ 40 ไทยและกัมพูชา ร้อยละ 36 บังกลาเทศและเซอร์เบีย ร้อยละ 35 อินโดนีเซียร้อยละ 32 แอฟริกาใต้และบอสเนียร้อยละ 30 ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ คาซัคสถาน มาเลเซีย และตูนีเซีย ร้อยละ 25 ทุกประเทศจะได้รับจดหมายจากผู้นำสหรัฐฯ เพื่อให้ทบทวนมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาวอเมริกันและนโยบาย America First
ญี่ปุ่นแสดงความผิดหวังต่อการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ เนื่องจากมีการเจรจารหว่างกันหลายครั้ง แต่สหรัฐฯ ยังไม่เปลี่ยนแปลงท่าที โดยอ้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์แห่งชาติ ทั้งนี้ เมื่อ 10 กรกฎาคม 2568 นายอิวายะ ทาเคชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นให้ความเห็นระหว่างเข้าร่วมการประชุมอาเซียนที่มาเลเซียว่าประเทศต่าง ๆ ควรขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจแบบเสรี เปิดกว้างและเป็นธรรม พร้อมทั้งย้ำว่าภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ด้านนายอิชิบะ ชิเกรุ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศเมื่อ 11 กรกฎาคม 2568 ว่าจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวญี่ปุ่น โดยที่ไม่ทำตามแรงกดดันจากสหรัฐฯ และไม่ให้สหรัฐฯ เอาเปรียบ แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นพันธมิตรก็ตาม
บรรยากาศความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นกำลังถูกจับตามองในเวทีระหว่างประเทศว่านโยบายภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการเป็นพันธมิตรหลักของญี่ปุ่นต่อสหรัฐฯ หรือไม่
เนื่องจากมีการวิเคราะห์กันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ ไม่ผ่อนปรนให้ญี่ปุ่นเป็นเพราะรัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันและมุ่งมั่นจะปกป้องเกษตรกกรในประเทศ รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับกรณีสหรัฐฯ เรียกร้องให้ญี่ปุ่นเพิ่มงบประมาณด้านการทหารด้วย