นายมาร์โค รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และนายหวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนจะพบหารือกันใน 11 กรกฎาคม 2568 นอกรอบการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศครั้งที่ 58 ของอาเซียน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยเป็นการพบกันครั้งสำคัญเพราะอยู่ในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีประเด็นขัดแย้งและแตกต่างกันหลายเรื่อง ทั้งนโยบายภาษีตอบโต้ การแข่งขันด้านเทคโนโลยีและสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายเป้นผู้แทนระดับสูงที่จะพบกัน ตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์รับตำแหน่งเมื่อมกราคม 2568
เมื่อ 10 กรกฎาคม 2568 นายหวังอี้ เปิดเผยประเด็นที่ทั้ง 2 ฝ่ายอาจหารือกัน คือ ความท้าทายจากนโยบายภาษีตอบโต้ฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ ซึ่งจีนมีมุมมองว่านโยบายดังกล่าวควรจะยุติธรรมและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ตลอดจนเป็นผลดีต่อระเบียบโลก นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่าสหรัฐฯ กับจีนจะหารือกันเพื่อแสดงจุดยืนเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในช่องแคนไต้หวัน และความกังวลของสหรัฐฯ ต่อกรณีจีนสนับสนุนรัสเซียทำสงครามในยูเครนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สหรัฐฯ กังวลว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ต่อรัสเซียและยูเครน
ด้านนายรูบิโอคาดหวังว่าจะได้หารืออย่างตรงไปตรงมากับผู้แทนระดับสูงของจีน และมุ่งมั่นว่าจะใช้โอกาสการเยือนมาเลเซียครั้งนี้ ย้ำให้อาเซียนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เห็นว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการกระชับความร่วมมืออย่างรอบด้านตามยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง เสรีและมั่นคง และพร้อมจะมีบทบาทสร้างสันติภาพในภูมิภาค คาดว่านายรูบิโอจะเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคง การส่งเสริมบทบาทของสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้ และการส่งเสริมกลไกกลุ่ม QUAD ให้เป็นศูนย์กลางความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ที่พร้อมอย่างไรก็ตาม นายรูบิโอได้แสดงท่าทีเมื่อ 11 กรกฎาคม 2568 ว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องดำเนินนโยบายอัตราภาษีตอบโต้ เนื่องจากที่ผ่านมา สหรัฐฯ เผชิญนโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม และเสียเปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังใช้โอกาสนี้หารือกับนายเซอร์เกย์ ราฟลอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย ที่เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมอาเซียนด้วย โดยได้หารือกันเรื่องแนวทางสร้างสันติภาพและการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้ง โดยมีสหรัฐฯ อำนวยความสะดวก สำหรับอาเซียน การที่ประเทศมหาอำนาจใช้การประชุมอาเซียนเป็นเวทีย้ำนโยบายต่ออาเซียน และเป็นเวทีหารือทวิภาคีระหว่างกัน สะท้อนว่าการประชุมในกรอบอาเซียนยังมีความสำคัญ