สำนักงานเลขาธิการการบินพลเรือนกัมพูชา (State Secretariat of Civil Aviation-SSCA) ประกาศเมื่อ 9 กรกฎาคม 2568 ว่า กัมพูชาเตรียมเปิดใช้งานท่าอากาศยานนานาชาติเตโช-ตาเขมา ในจังหวัดกันดาล (ท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ของกัมพูชา) ใน 9 กันยายน 2568 โดยพร้อมให้บริการเที่ยวบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศทุกเส้นทาง ปัจจุบันการก่อสร้างด้านโครงสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการด้านเอกสาร อบรมพนักงาน และดูแลความสะอาดเรียบร้อยภายในอาคารท่าอากาศยาน สำหรับพิธีเปิดอย่างเป็นทางการมีกำหนดจัดขึ้นใน 20 ตุลาคม 2568 โดยมีสมเด็จฯ ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นประธาน
ท่าอากาศยานนานาชาติเตโช-ตาเขมา ตั้งอยู่ที่เมืองตาเขมา จังหวัดกันดาล (ห่างจากราชธานีพนมเปญไปทางทิศใต้ประมาณ 30-40 กิโลเมตร) โดยจะเปิดให้บริการแทนที่ท่าอากาศยานนานาชาติพนมเปญ ในราชธานีพนมเปญ ที่จะปิดให้บริการ ครอบคลุมพื้นที่ 16,250 ไร่ เป็นท่าอากาศยานประเภท 4F ตามองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization – ICAO) สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ เช่น Airbus A380 และ Boeing 747-800 และเมื่อเปิดใช้งานจะเป็นท่าอากาศยานที่ใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก รวมถึงจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า ท่าอากาศยานนานาชาติพนมเปญถึง 6 เท่า
ท่าอากาศยานนานาชาติเตโช-ตาเขมา ดำเนินการโดยบริษัท Cambodia Airport Investment Co Ltd (CAIC) เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลกัมพูชากับบริษัท OCIC มูลค่าการลงทุน 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมการบินกัมพูชาที่มีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการท่องเที่ยว ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวดำเนินการ ดังนี้
– นโยบายการขนส่งทางอากาศแห่งชาติ ปี 2568-2578 (National Policy on Air Transport 2025-2035) ที่ตั้งเป้าหมายดึงดูดผู้โดยสารทางอากาศให้ได้ 25 ล้านคนในปี 2578 และขนส่งสินค้าทางอากาศได้ 205,000 ตัน พร้อมเชื่อมโยงทางอากาศทั้งในประเทศ ภูมิภาคและทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้า และการแลกเปลี่ยนทางสังคม
– พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่าอากาศยานที่ทันสมัย นอกเหนือจากท่าอากาศยานนานาชาติเตโช-ตาเขมาที่กล่าวถึงข้างต้น กัมพูชายังปรับปรุง พัฒนาท่าอากาศยานอื่น ๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ อังกอร์ (Siem Reap Angkor International Airport – SAI) ที่เปิดดำเนินการแล้วเมื่อปลายปี 2566 โดยเป็นสนามบินขนาดใหญ่ที่ทันสมัย สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้เช่นกัน (จัดเป็นสนามบินระดับ 4E) เพื่อรองรับการท่องเที่ยวสู่เมืองเสียมราฐและนครวัด รวมถึงท่าอากาศใน จ.พระสีหนุ เป็นต้น
– เสริมสร้างความเข้มแข็งของสายการบินแห่งชาติ ก็คือ Air Cambodia (เดิมคือ Cambodia Angkor Air) กำลังดำเนินแผนการปรับโฉมและเพิ่มเที่ยวบินตรงไปยังจุดหมายปลายทางสำคัญในภูมิภาคและทั่วโลก นอกจากนี้ ยังเน้นการส่งเสริมความร่วมมือและการลงทุนกับต่างประเทศ เช่น การหารือกับเยอรมนีเกี่ยวกับการเชื่อมโยงเที่ยวบินตรง และการลงนามข้อตกลงกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และยุโรปเพื่อส่งเสริมเที่ยวบินขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร
กัมพูชากำลังลงทุนอย่างมหาศาลและวางแผนเชิงกลยุทธ์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการบินของตนให้ทันสมัยและมีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับภูมิภาค ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในอนาคต