กัมพูชามีการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในทางการเมือง โดยที่ประชุมสภาแห่งชาติกัมพูชา เมื่อ 11 กรกฎาคม 2568 มีมติเห็นชอบผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่ออนุญาตให้รัฐบาลสามารถออกกฎหมายเพิกถอนสัญชาติของบุคคลที่ถูกตัดสินว่าสบคบคิดกับชาวต่างชาติเพื่อบ่อนทำลายผลประโยชน์แห่งชาติ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกัมพูชายืนยันว่า กฎหมายใหม่นี้จะบังคับใช้เฉพาะกับบุคคลผู้กระทำการทรยศ บ่อนทำลายความมั่นคงของชาติเท่านั้น และผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดต่อผลประโยชน์ของชาติก็ไม่จำเป็นต้องกังวล
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเป้าหมายหลักในการเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลสามารถจัดการกับบุคคลที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและอธิปไตยของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำที่บ่อนทำลายเสถียรภาพทางการเมือง หรือทำงานร่วมกับกองกำลังต่างชาติเพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่เป็นไปตามผลประโยชน์ของกัมพูชา โดยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 33 จากเดิมที่ระบุว่า “พลเมืองเขมรจะไม่มีการถูกเพิกถอนสัญชาติ ถูกเนรเทศ หรือส่งตัวไปประเทศอื่น เว้นแต่จะมีข้อตกลงร่วมกัน” โดยแก้ไขเป็น “การได้รับสัญชาติ การสูญเสียสัญชาติ และการเพิกถอนสัญชาติเขมร จะถูกกำหนดโดยกฎหมาย” กล่าวคือ สามารถเพิกถอนสัญชาติสามารถสำหรับผู้ที่มีสัญชาติกัมพูชาโดยกำเนิด หรือผู้ที่ได้รับสัญชาติในภายหลัง หากพิสูจน์ได้ว่ามีพฤติกรรมดังกล่าว
การผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนี้ได้ก่อให้เกิดความกังวลจากองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและหลายประเทศทั่วโลก โดยมีข้อโต้แย้งว่าการกระทำดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และอาจนำไปสู่การไร้สัญชาติ (statelessness) ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล รวมถึงละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่าคำว่า “สมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติ” นั้นมีความคลุมเครือและสามารถตีความได้อย่างกว้างขวาง ทำให้มีโอกาสสูงที่จะมีการนำกฎหมายไปใช้ในทางที่ผิดหรือใช้เพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมืองโดยไม่เป็นธรรม
ก่อนหน้านี้ สมเด็จฯ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภา ยืนยันว่า กัมพูชามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเพิกถอนสัญชาติมาแต่เดิมแล้ว และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือแตกต่างจากหลักปฏิบัติของประเทศอื่น ๆ ในโลก พร้อมอ้างถึงเอกสารทางกฎหมายในอดีต โดยระบุว่ากัมพูชามีกระบวนการทางกฎหมายสำหรับการเพิกถอนสัญชาติมาตั้งแต่สมัยระบอบสังคมนิยม เขาได้ยกตัวอย่างเอกสารสำคัญสองฉบับ ได้แก่ พรก. ว่าด้วยการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการสูญเสียสัญชาติเขมร (Royal Kram promulgating the Law on the Loss of Khmer Citizenship) ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2511 และประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 25 ทวิ (Civil Code, Article 25–bis) ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2502 โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 25 ทวิ (วรรค 3) ที่ระบุถึงกรณีที่บุคคลอาจถูกเพิกถอนสัญชาติ เช่น ชาวเขมรที่อาศัยอยู่ต่างประเทศและปฏิเสธการกลับมารับใช้กองทัพ หรือทหารเขมรที่หลบหนีไปต่างประเทศแม้ในช่วงเวลาสงบสุข เป็นต้น
สมเด็จฯ ฮุน เซน ยังเน้นย้ำว่ากัมพูชาไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่มีกฎหมายลักษณะนี้ โดยอ้างว่าจากข้อมูลที่มีอยู่มีประมาณ 150 ประเทศทั่วโลกจากเกือบ 200 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ที่มีกฎหมายอนุญาตให้มีการเพิกถอนสัญชาติได้ ซึ่งรวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาด้วย เขากล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้มีความจำเป็นเพื่อปกป้องกัมพูชาจากการแทรกแซงของต่างชาติ และป้องกันการใช้สัญชาติกัมพูชาไปบ่อนทำลายอธิปไตยของชาติ