สื่อมวลชนจีนรายงานเมื่อ 13 กรกฎาคม 2568 ว่า นายหวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนได้หารือกับอาเซียนประเด็นสถานการณ์ความมั่นคงในทะเลจีนใต้เมื่อ 12 กรกฎาคม 2568 ที่มาเลเซีย และเห็นพ้องกันที่จะสนับสนุนกลไกการจัดทำเอกสารประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct – CoC) เพื่อให้เป็นกลไกการแก้ไขปัญหาระหว่างกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนยังระบุว่า ทุกประเทศเห็นว่าสถานการณ์ด้านความมั่นคงในทะเลจีนใต้ปัจจุบันสงบ มีความไว้วางใจระหว่างกันและมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับบรรยากาศความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคอื่น ๆ แม้ว่าจะยังมีประเทศนอกภูมิภาคที่พยายามแทรกแซงทะเลจีนใต้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากประเทศในภูมิภาคเข้าใจและรู้ทันเทคนิคเดิม ๆ ที่ประเทศนอกภูมิภาคพยายามยุยงให้เกิดความขัดแย้ง
ในระหว่างการประชุมจีนกับกลุ่มอาเซียน ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะยกระดับเอกสารประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ หรือ CoC ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration of the Conduct of Parties in the South China Sea – DOC) โดยเฉพาะการกำหนดประมวลการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ คาดว่าจีนและอาเซียนจะสามารถบรรลุการจัดทำ CoC ได้ในปี 2569
ในระหว่างการประชุมกับกลุ่มอาเซียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนยังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ปัจจุบัน โดยเน้นย้ำให้ประเทศที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงความร่วมมือ เสถียรภาพและสันติภาพ มากกว่าเรื่องการเผชิญหน้าหรือความขัดแย้ง เพื่อให้บรรยากาศความมั่นคงในทะเลจีนใต้เป็นประโยชน์ต่อทุกประเทศ พร้อมกันนี้ นายหวัง อี้ กล่าวพาดพิงถึงฟิลิปปินส์โดยอ้อม ด้วยการระบุว่าบางประเทศยังมีมุมมองที่ไม่สอดคล้องกับจีน และยังแสดงออกตามความต้องการของประเทศอื่น ๆ แต่เชื่อว่าประเทศดังกล่าวจะเข้าใจสถานการณ์ได้เร็ว ๆ นี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนพร้อมกับย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการตัดสินอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้ตามกฎหมายทางทะเลหรือ UNCLOS โดยศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเมื่อปี 2559 โดยจีนให้ความเห็นว่าคำตัดสินดังกล่าวถูกแทรกแซงโดยมหาอำนาจ และเป็นอันตรายต่อความพยายามใช้แนวทางการทูตและความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาพิพาทระหว่างกัน โดยเฉพาะระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้ที่มีเหตุการณ์เผชิญหน้าทางการทหารและเสี่ยงขัดแย้งกันในทะเลบ่อยครั้ง