สื่อต่างประเทศติดตามนโยบายภาษีตอบโต้ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยล่าสุเเมื่อ 13 กรกฎาคม 2568 ประกาศว่าจะขึ้นภาษีตอบโต้สินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU) และเม็กซิโกร้อยละ 30 เริ่มต้นใน 1 สิงหาคม 2568 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ด้านการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ตามนโยบาย America First ซึ่งปัจจุบันผู้นำสหรัฐฯ ส่งหนังสือให้ประเทศคู่ค้า 24 ประเทศและ EU ให้เตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการภาษีตอบโต้ดังกล่าวแล้ว
ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่แสดงความผิดหวังและไม่พอใจสหรัฐฯ ที่ไม่ลดอัตราภาษี ทั้งที่หลายประเทศส่งผู้แทนไปเจรจากับสหรัฐฯ แล้ว ปัจจุบัน ประเทศที่ได้รับหนังสือจากผู้นำสหรัฐฯ เพื่อแจ้งอัตราภาษีอย่างเป็นทางการ ได้แก่ บราซิลร้อยละ 50 เมียนมาและลาวร้อยละ 40 ไทยและกัมพูชาร้อยละ 36 แคนาดา เซอร์เบียและบังกลาเทศร้อยละ 35 อินโดนีเซียร้อยละ 32 สหภาพยุโรป อัลเจเรีย อิรัก ลิเบีย เม็กซิโก แอริกาใต้ ศรีลังกาและบอสเนียร้อยละ 30 ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มอลโดวา ตูนีเซีย คาซัคสถาน มาเลเซียและบรูไนร้อยละ 25 และฟิลิปปินส์ร้อยละ 20
ประเทศต่าง ๆ เตรียมผลักดันการเจรจากับสหรัฐฯ ให้ทบทวนอัตราภาษีอีกครั้ง ขณะเดียวกันหลายประเทศ รวมทั้ง EU ก็ประกาศจะมีมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ หากจำเป็น โดยนาง Ursula von der Leyen ประธาน EU ระบุว่านโยบายของสหรัฐฯ ไม่ยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์ขู่ไว้ล่วงหน้าว่า สหรัฐฯ อาจเพิ่มอัตราภาษีตอบโต้อีก หากประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ออกมาตรการที่ไม่เป็นธรรมกับนักธุรกิจและนักลงทุนสหรัฐฯ พร้อมกับระบุว่าในกรณีความสัมพันธ์ด้านการค้ากับ EU นั้น สหรัฐฯ เป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด และชาวอเมริกันได้รับผลกระทบจากอุปสรรคการค้าจากสมาชิก EU ทั้งนโยบายภาษีและนโยบายที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งเมื่อปี 2567 สหรัฐฯ เสียดุลการค้ากับ EU มูลค่า 235,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้ว่า EU จะไม่พอใจนโยบายของสหรัฐฯ แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงยังยืนยันว่าจะพยายามเจรจากับสหรัฐฯ ต่อไปจนถึง 1 สิงหาคม 2568 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกทั้ง 27 ประเทศ ซึ่งหลายประเทศก็ต้องการให้มีการเจรจากับสหรัฐฯ อีกครั้ง อย่างไรก็ดี สมาชิก EU บางส่วนสนับสนุนให้มีมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ โดยนาย Bernd Lange ประธานคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐสภายุโรปให้ความเห็นว่าหนังสือจากผู้นำสหรัฐฯ เปรียบเหมือนการทำร้ายทีมเจรจา และเสนอให้ EU ประกาศมาตรการตอบโต้อย่างเด็ดขาดใน 14 กรกฎาคม 2568 ท่าทีดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผู้นำฝรั่งเศส
เม็กซิโกก็เช่นกัน ไม่พอใจนโยบายภาษีของผู้นำสหรัฐฯ โดยมีมุมมองว่าไม่ยุติธรรม แต่แสดงความเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ ได้ใหม่ เพราะมั่นใจว่าได้ดำเนินการตามที่สหรัฐฯ ร้องขอความร่วมมือด้านการป้องกันความมั่นคงชายแดนและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติแล้ว เนื่องจากผู้นำสหรัฐฯ ยื่นเงื่อนไขให้เม็กซิโกแก้ไขปัญหาพรมแดน ยาเสพติด และผู้อพยพ
ก่อนหน้านี้เมื่อ 12 เมษายน 2568 ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่าจะทำข้อตกลงการค้ากับประเทศต่าง ๆ ให้ได้ 90 ข้อตกลงภายใน 90 วัน ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการเจรจากับสหราชอาณาจักรและเวียดนาม