สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (National Statistics Office of Vietnam-NSO) สังกัดกระทรวงการคลัง รายงานว่า เศรษฐกิจเวียดนามแข็งแกร่งที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ โดยอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ในห้วงมกราคม-มิถุนายน ปี 2568 อยู่ที่ร้อยละ 7.52 สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นผลลัพธ์เชิงบวกที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่น ความพยายาม และการดำเนินการที่เด็ดขาดในการบริหารจัดการด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาล ท่ามกลางความท้าทายจากผลกระทบอัตราดอกเบี้ยสูง ความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลงและภาวะชะงักงันทางการค้า
เมื่อพิจารณาภาคส่วนสำคัญที่มีการเติบโตในเชิงบวก ได้แก่ 1) เกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง ขยายตัวที่ ร้อยละ 3.84 โดยได้แรงหนุนจากความต้องการภายในประเทศ รวมถึงอุปสงค์การส่งออก 2) การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง เติบโตรวมกันที่ร้อยละ 8.33 โดยอุตสาหกรรมแปรรูปและการผลิตถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจเวียดนาม และ 3) ภาคบริการ เติบโตถึงร้อยละ 8.14 ทั้งการค้าส่งและการค้าปลีก (เพิ่มร้อยละ 7.03 ) ภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ (เพิ่มร้อยละ 9.82 ) ภาคการเงิน การธนาคารและการประกันภัย (เพิ่มร้อยละ 6.53 ) ภาคการโรงแรม (เพิ่มร้อยละ 10.46) นอกจากนี้ รวมถึงภาคบริการสาธารณะที่รัฐดำเนินการ ทั้งกิจกรรมของพรรคฯ กิจกรรมด้านความมั่นคง การป้องกันประเทศ การลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เป็นต้น
แนวโน้มและการคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนาม ปี 2568 รัฐบาลยังคงตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ให้อยู่ที่อย่างน้อยร้อยละ 8 และ GDP ต่อหัว สูงกว่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สถาบันระหว่างประเทศหลายแห่งได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ของเวียดนามลงท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายระดับโลก ได้แก่ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะอยู่ที่ร้อยละ 6.2 ในปี 2568 และ ร้อยละ 6 ในปี 2569 ขณะที่ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามปี 2568 จะเติบโตอยู่ที่ ร้อยละ 6.8
แม้เศรษฐกิจในห้วงครึ่งปีแรกของปี 2568 จะเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง แต่ในห้วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ เริ่มบังคับใช้ภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ ร้อยละ 20% สำหรับสินค้าเวียดนาม และภาษีสูงถึง ร้อยละ 40 สำหรับสินค้าประเทศอื่นที่ส่งผ่านเวียดนาม (transshipped goods) จะคาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวลงอย่างมากในครึ่งหลังของปี เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม (คิดเป็นร้อยละ 29 ของการส่งออกทั้งหมด) รวมถึงการเกินดุลการค้าลดลง จากการเปิดตลาดสินค้าให้กับสหรัฐฯ และการลงนาม MOU ซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ มูลค่า 2-3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้การเกินดุลการค้าโดยรวมลดลง นอกจากนี้ เงินเวียดนามด่งมีแนวโน้มอ่อนค่าลง จากการบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ
โดยสรุปแล้ว เศรษฐกิจเวียดนามในปี 2568 เริ่มต้นอย่างแข็งแกร่งด้วยการเติบโตที่น่าประทับใจ แต่ในครึ่งปีหลังจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าโลก โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ รวมถึงความผันผวนของค่าเงินและปัญหาหนี้เสียภายในประเทศ การบริหารจัดการความท้าทายเหล่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาโมเมนตัมการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามต่อไป