จีนเริ่มสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ (hydropower) ซึ่งจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่บริเวณภาคตะวันออกของเขตปกครองตนเองทิเบต โดยนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีนประกาศเมื่อ 19 กรกฎาคม 2568 ในพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อเริ่มก่อสร้างที่นครญิงจี ในเขตปกครองตนเองทิเบตว่า การก่อสร้างโครงการดังกล่าว มูลค่าการลงทุนประมาณ 167,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลจีนที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเพื่อให้จีนมีพลังงานไฟฟ้าใช้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ตลอดจนพร้อมที่จะกระจายและจัดสรรพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนนี้ไปยังต่างประเทศด้วย คาดว่าโครงการนี้จะมีสถานีผลิตพลังงานไฟฟ้า 5 แห่ง สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 300 ล้านเมกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี
นายกรัฐมนตรีจีนเปิดเผยว่าโครงการนี้ เป็นโครงการแห่งศตวรรษ โดยมีการศึกษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศล่วงหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้ว เนื่องจากโครงการนี้จะก่อสร้างเหนือแม่น้ำแม่น้ำยาร์ลุง จังโป (Yarlung Zangbo) ที่ไหลต่อไปยังอินเดียและบังกลาเทศ อย่างไรก็ตาม สื่อต่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลจีนไม่ได้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่อาจเปลี่ยนแปลงระยะยาวจากการสร้างและดำเนินกิจการเขื่อนผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่
องค์กรระหว่างประเทศที่ติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนดังกล่าว โดยกลุ่ม International Campaign for Tibet ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมในอินเดียและบังกลาเทศวิตกว่าโครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งประชาชนที่ใช้น้ำจากแม่น้ำนี้เมื่อไหลผ่านอินเดีย(แม่น้ำพรหมบุตร) และบังกลาเทศ (แม่น้ำยมุนา) เพื่อการอุปโภคและบริโภค ด้านรัฐบาลอินเดียเคยแสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับกรณีนี้เมื่อมกราคม 2568 โดยเตือนรัฐบาลจีนว่าโครงการดังกล่าวจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ใกล้แม่น้ำพรหมบุตร ซึ่งรัฐบาลจีนรับทราบและยืนยันว่าการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่นี้จะไม่ส่งผลกระทบอย่างแน่นอน
การที่จีนสร้างเขื่อนเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากน้ำจำนวนมาก เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลจีนที่พยายามหาแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบใหม่ที่เป็นพลังงานสะอาด เพื่อเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์จีนที่เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก รัฐบาลจีนเชื่อว่าการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนจะช่วยให้จีนมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อการจ้างงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกล และการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
จีนต้องทำให้นานาชาติและประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศยอมรับและเชื่อมั่นว่าโครงการเขื่อนพลังงานน้ำของจีนจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชน ตลอดจนเชื่อมั่นว่าจีนจะไม่ใช้ความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์และความสามารถในการควบคุมปริมาณน้ำเพื่อประโยชน์ในการต่อรองอำนาจในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศด้วย หรือใช้น้ำเป็นอาวุธเพื่อการต่อรองผลประโยชน์ตามที่จีนต้องการ