สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ไทย-กัมพูชา โดยเมื่อ 24 กรกฎาคม 2568 ห้วง 1200-1400 น. มีรายงานว่าไทยใช้เครื่องบิน F-16 ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อฐานทัพกัมพูชาบริเวณใกล้พรมแดน หลังจากมีรายงานว่ากองทัพกัมพูชายิงจรวดรุ่น BM-21 ซึ่งเป็นจรวดหลายลำกล้อง ยิงได้ในระยะ 20 กิโลเมตร เข้าพื้นที่พลเรือนในจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์ ทำให้มีรายงานประชาชนชาวไทยได้รับบาดเจ็บ 14 ราย และเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 9 ราย เนื่องจากจรวดของกัมพูชาตกใส่ร้านค้าสะดวกซื้อและปั๊มน้ำมัน รวมทั้งโรงพยาบาลพนมดงรัก ในจังหวัดสุรินทร์ ด้วย
ด้านกองทัพกัมพูชายืนยันว่าไทยใช้เครื่องบิน F-16 โจมตีกัมพูชาจริง แต่ไม่เปิดเผยความเสียหายจากการโจมตีของฝ่ายไทย รวมทั้งยืนยันว่าพื้นที่ปะทะที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา อย่างไรก็ดี สื่อต่างประเทศระบุว่ามีการตอบโต้ทางการทหารระหว่างไทยกับกัมพูชาในพื้นที่ 6 จุด ตามรายงานของไทย ซึ่งอยู่ในบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ในจังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี
นอกจากการตอบโต้ด้วยวิธีการทางทหาร ไทยและกัมพูชายังตอบโต้ด้วยมาตรการการทูต รวมทั้งยกระดับการปกป้องพลเรือนของตนเอง โดยไทยสั่งให้ประชาชนที่อยู่ในกัมพูชาพิจารณาเดินทางกลับไทยโดยเร็ว เนื่องจากประเมินว่าสถานการณ์มีแนวโน้มจะยืดเยื้อและขยายตัวรุนแรงมากขึ้น
สำนักข่าว CNN รายงานว่ากองทัพไทยมีศักยภาพด้านกองกำลังและยุทโธปกรณ์สูงกว่ากัมพูชา รวมทั้งมีจำนวนทหารและอาวุธมากกว่าอย่างน้อย 3 เท่า ตลอดจนยังมียุทโธปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากความร่วมมือด้านการทหารที่ใกล้ชิดกับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ รัสเซีย และสวีเดน ด้านนายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวต่างประเทศของสำนักข่าว CNN ประเมินว่าประชาชนทั้ง 2 ประเทศไม่ต้องการให้สถานการณ์ความขัดแย้งขยายตัว แต่ต้องติดตามท่าทีของผู้นำรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากจะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากต่อการยุติความรุนแรงและความขัดแย้งครั้งนี้ ขณะที่ต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรและจีน เริ่มแจ้งเตือนพลเรือนที่อยู่ในพื้นที่ไทย-กัมพูชาให้ระมัดระวังการเดินทางและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
มีรายงานว่านายกรัฐมนตรีกัมพูชาส่งหนังสือถึงนาย Asim Iftikhar Ahmad ผู้แทนถาวรของปากีสถานประจำสหประชาชาติ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ให้จัดการประชุมวาระฉุกเฉินเพื่อเรียกร้องให้ยุติการปะทะและตอบโต้ทางการทหารครั้งนี้ พร้อมระบุว่าไทยเป็นฝ่ายเริ่มต้น อย่างไรก็ตาม การที่กัมพูชาโจมตีเข้าพื้นที่พลเรือนของไทยอาจเข้าข่ายขัดต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและละเมิดอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) ซึ่งเปรียบเสมือนกติกาสากลในการคุ้มครองชีวิตของพลเรือน ทหารบาดเจ็บ และผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบ โดยเฉพาะฉบับที่ 4 ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการปกป้องประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบ เช่น ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เนื่องจากมีกระสุนปืนใหญ่ตกใกล้โรงพยาบาลพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพลเรือน