กองทัพอิหร่านเปิดเผยเมื่อ 24 กรกฎาคม 2568 ว่า กรณีกองทัพเรือสหรัฐฯ ส่งเรือพิฆาต USS Fitzgerald ปฏิบัติการทางทะเลใกล้น่านน้ำของอิหร่านในอ่าวโอมานเมื่อ 23 กรกฎาคม 2568 นั้น เสี่ยงอันตรายและเกือบทำให้เกิดการเผชิญหน้าทางการทหาร เนื่องจากความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้อิหร่านจำเป็นต้องส่ง ฮ.รุ่น SH-3 หรือ Sea King ออกไปสกัดกั้นและแจ้งเตือนให้เรือพิฆาตของสหรัฐฯ เปลี่ยนเส้นทาง พร้อมกันนี้ อิหร่านระบุว่าสหรัฐฯ ตั้งใจยั่วยุทางการทหาร และทำให้บรรยากาศด้านความมั่นคงในภูมิภาคตึงเครียดขึ้น เพราะแม้ว่ากองทัพอิหร่านจะแจ้งเตือนเรือพิฆาตของสหรัฐฯ แล้ว ก็ยังไม่ยอมเปลี่ยนเส้นทาง
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ โดยกองบัญชาการกลาง หรือ Central Command ยืนยันว่าปฏิบัติการของเรือพิฆาตดังกล่าวเป็นไปอย่างมืออาชีพและสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งอยู่ในน่านน้ำสากล และไม่มีความตึงเครียดเกิดขึ้นระหว่างการเผชิญหน้าดังกล่าว รวมทั้งย้ำว่าปฏิบัติการของเรือพิฆาต USS Fitzgerald บรรลุผลเป็นอย่างดี
การเผชิญหน้าระหว่างกันดังกล่าว ทำให้ทั่วโลกวิตกว่าบทบาทของกองทัพสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลางจะทำให้บรรยากาศความมั่นคงในพื้นที่ตึงเครียดขึ้น เพราะอิหร่านระแวงว่าสหรัฐฯ จะโจมตีผลประโยชน์ของอิหร่านเพื่อสนับสนุนอิสราเอล นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ แสดงแสนยานุภาพทางการทหารใกล้อิหร่านอาจเป็นการข่มขู่และกดดันให้อิหร่านยกเลิกโครงการพัฒนานิวเคลียร์ ซึ่งปัจจุบันนานาชาติ โดยเฉพาะกลุ่ม E 3 หรือสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี กำลังโน้มน้าวให้อิหร่านเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ ภายในสิงหาคม 2568 แลกเปลี่ยนกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี อิหร่านยังแสดงท่าทีไม่ไว้วางใจสหรัฐฯ พิจารณาจากล่าสุดเมื่อ 23 กรกฎาคม 2568 นาย Kazem Gharibabadi ผู้แทนการเจรจาฝ่ายอิหร่านระบุว่าสหรัฐฯ เป็นฝ่ายเปลี่ยนแปลงจุดยืนและนโยบายต่อข้อตกลงดังกล่าวเสมอ และประเมินว่าสหรัฐฯ ต้องการโจมตีอิหร่าน โดยมีแนวโน้มจะใช้เรื่องการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์เป็นข้ออ้างในการโจมตีในเร็ว ๆ นี้ด้วย
แม้ว่าอิหร่านจะไม่ไว้วางใจสหรัฐฯ แต่พยายามทำให้นานาชาติเชื่อมั่นในอิหร่านด้วยการอนุญาตให้ทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ส่งผู้แทนไปตรวจสอบโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านได้ แต่ยังไม่อนุญาตให้เข้าไปยังโรงงานพัฒนานิวเคลียร์โดยตรง เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย