นักวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรายงานข้อมูลจากสถาบันโคเปอร์นิคัสแห่งสหภาพยุโรป ที่ระบุว่าอุณหภูมิของโลกในรอบ 12 เดือน (ก.พ. 66 – ม.ค. 67) เฉลี่ยสูงขึ้น 1.52 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งสูงเกินเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีสฉบับปี 2558 รวมถึงพบงานวิจัยต่างประเทศที่บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้กว่าร้อยละ 84 ที่โลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส ทำให้ทั่วโลกเสี่ยงเผชิญสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว อย่างเช่นน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และการสูญเสียระบบนิเวศบนโลก
ขณะที่ไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเช่นกัน เห็นได้จากช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา ระบบนิเวศทางทะเลของไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรง อาทิ ปะการังเกิดการฟอกขาวต่อเนื่อง แหล่งหญ้าทะเลในหลายจังหวัดลดลง อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น (ก.พ. 67 อยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส) ซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนสัตว์น้ำและการทำประมง
โดยแม้มีคาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญในไทยจะสิ้นสุดลงประมาณ มิ.ย. 67 แต่ช่วงที่ปรากฎการณ์ยังคงมีผลกระทบจะทำให้อุณหภูมิในไทยร้อนรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา และคาดว่าอุณหูมิสูงสุดอาจถึง 44 องศาเซลเซียส