ข้อมูลจากทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านประชากรไทย พบประเด็นที่น่าสนใจคือ จำนวนเด็กที่เกิดใหม่ในแต่ละปีลดน้อยลงเป็นอย่างมาก เหลือประมาณ 500,000 คน จาก 10 ปีก่อนหน้านี้ที่มีประมาณ 700,000 คน เนื่องจากสาเหตุภาวะทางเศรษฐกิจและค่านิยมของคนรุ่นหลัง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยมองว่าการแต่งงานมีบุตรเป็นการเพิ่มภาระ หรือจะมีบุตรก็ต่อเมื่อมีความพร้อม เพื่อให้บุตรมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่านั้น ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายในกลุ่มผู้มีรายได้หรือมีศักยภาพเลี้ยงดูบุตรอีกด้วย
แนวคิดดังกล่าวยังมีผลให้เด็กที่เกิดใหม่ในช่วงนี้มักกระจุกตัวอยู่ในครอบครัวที่เปราะบางหรือไม่มีศักยภาพจะเลี้ยงดูบุตรได้ดีพอ เช่น มีปัญหาความยากจน ปัญหาครอบครัว รวมถึงกรณีการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ ทำให้เด็กต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐมาก และอาจได้รับการเลี้ยงดูแบบไม่มีคุณภาพหรือเติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีแต่ปัญหา เช่น ยาเสพติด ความรุนแรงในครอบครัว จนซึมซับพฤติกรรมและมีโอกาสจะก่อปัญหาสังคมตามมา ซึ่งเห็นได้ชัดจากสถานการณ์สังคมไทยปัจจุบันที่พบอาชญากรหรือผู้ก่อเหตุความรุนแรงที่เป็นเด็กและเยาวชนจากครอบครัวที่มีความเปราะบางมากขึ้น