กรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อปลาย ม.ค.68 ระงับความช่วยเหลือต่างประเทศชั่วคราว เพื่อให้หน่วยงานรัฐบาลทุกแห่ง โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กลับไปทบทวนการใช้จ่ายและให้ความสำคัญการปกป้องผลประโยชน์ของชาวอเมริกันเป็นอันดับแรก ตามสโลกแกน “America First” ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือทุกโครงการเป็นประโยชน์กับชาวอเมริกันจริง ๆ โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีเวลา 3 เดือนที่จะทบทวนการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศ เพื่อพิจารณาว่าโครงการใดจะดำเนินการต่อไป ปรับเปลี่ยน หรือยกเลิก ปัจจุบัน นายมาร์โค รูบิโอ รมว.กต.สหรัฐฯ ได้ส่งคำสั่งไปยัง สอท.สหรัฐฯ ทั่วโลกให้ระงับการให้ความช่วยเหลือในโครงการทุกประเภท ทั้งการช่วยเหลือด้านสาธารณสุข การศึกษา การพัฒนา ความมั่นคง และด้านอื่น ๆ ยกเว้นโครงการให้ความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาอดอยากในซูดาน รวมทั้งความช่วยเหลือด้านการทหารแก่อิสราเอลและอียิปต์ ที่จะยังดำเนินต่อไป ไม่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของผู้นำสหรัฐฯ ครั้งนี้
การระงับความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ทำให้องค์กรนานาชาติวิตกกังวล แม้ว่าสหรัฐฯ มีสิทธิจะทบทวนการให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ แต่การระงับความช่วยเหลือบางโครงการในตอนนี้อาจทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบ จึงต้องการให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เพิ่มโครงการที่จะได้รับการยกเว้นจากมาตรการนี้ เนื่องจากสหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศผู้สนับสนุนงบประมาณให้องค์กรนานาชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก และเมื่อปี 2566 สหรัฐฯ มีโครงการช่วยเหลือต่างประเทศมูลค่า 72,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในประมาณ 180 ประเทศทั่วโลก โครงการที่ควรได้รับการยกเว้น เช่น โครงการส่งเสริมความมั่นคงด้านสาธารณสุข
สำหรับประเทศที่อาจได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระงับความช่วยเหลือช่วยคราวครั้งนี้ พิจารณาจากปริมาณความช่วยเหลือที่เคยได้รับทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหาร ได้แก่ ยูเครน ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 1 เมื่อปี 2566 ผ่านโครงการของ USAID รองลงมาเป็นจอร์แดน เอธิโอเปีย อัฟกานิสถาน ไนจีเรีย คองโก ซีเรีย เคนยา และเยเมน ที่ผ่านมา โครงการที่สหรัฐฯ ช่วยเหลือมากที่สุด คือ โครงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจมูลค่า 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านสาธารณสุขมูลค่า 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมูลค่า 15,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกันนี้ มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ USAID ถูกพักงานชั่วคราวด้วย เพราะพยายามช่วยเหลือให้โครงการต่าง ๆ ได้รับงบประมาณต่อไป
องค์กรระหว่างประเทศไม่เห็นด้วยกับนโยบายของสหรัฐฯ เนื่องจากจะทำให้การวิจัยและพัฒนาด้านสาธารณสุขล่าช้า โดยเฉพาะโครงการ President’s Emergency Plan for AIDS Relief หรือ PEPFAR แผนฉุกเฉินสำหรับการบรรเทาทุกข์ด้านเอดส์ เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด ของ HIV/AIDS ที่เริ่มตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีบุช เมื่อปี 2546 ขณะที่องค์กรช่วยเหลือภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ (UN) แจ้งเตือนหน่วยงานทั่วโลกให้ระมัดระวังการดำเนินงานและเตรียมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ด้านนาย Antonio Guterres เลขาธิการ UN เรียกร้องให้สหรัฐฯ เพิ่มโครงการที่จะได้รับการยกเว้น และจะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ต่อไป
สื่อต่างประเทศรายงานประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง พร้อมกับชี้ให้เห็นความอดอยาก การต้องสูญเสียชีวิตจากการถูกลดความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข หรือการรักษาพยาบาล เฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคแอฟริกา แรงกดันจากประชาคมระหว่างประเทศในเรื่องนี้ ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ และนายรูบิโอ รมว.กต.สหรัฐฯ ต้องออกมายืนยันว่า ยังไม่ตัดความช่วยเหลือด้านมนุษธรรม เพื่อให้มีชีวิตอยู่