สถานการณ์ความมั่นคงในตะวันออกกลางเข้าสู่ภาวะซับซ้อนและตึงเครียดมากขึ้น หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยืนยันเมื่อ 21 มิถุนายน 2568 ว่าสหรัฐฯ ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่น B-2 ปฏิบัติการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน 3 แห่ง ได้แก่ Fordo, Natanz และ Esfahan ด้วยระเบิด bunker buster อาวุธพิเศษที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงจำนวนมาก ซึ่งโรงงานนิวเคลียร์ Fordo ทางตอนใต้ของกรุงเตหะราน มีความสำคัญอย่างมากต่ออิหร่าน เพราะเป็นโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียมขนาดใหญ่ สร้างไว้เมื่อปี 2552 ตั้งอยู่ใต้ดิน และเป็นพื้นที่ลับ ทำให้ที่ผ่านมา อิสราเอลไม่สามารถโจมตีได้ และอิสราเอลกล่าวหาว่าเป็นโรงงานพัฒนานิวเคลียร์เพื่อผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ไม่ใช่เชิงสันติตามที่อิหร่านกล่าวอ้าง
ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่าปฏิบัติการโจมตีดังกล่าวประสบความสำเร็จ เครื่องบินรบของสหรัฐฯ ทั้งหมดเดินทางกลับฐานทัพอย่างปลอดภัย พร้อมกับระบุว่าอิหร่านต้องพิจารณาเลือกสันติภาพและยุติการพัฒนานิวเคลียร์ ไม่เช่นนั้น สหรัฐฯ อาจโจมตีอีกเพื่อกดดันให้อิหร่านเลือกแนวทางสันติภาพ
กรณีประธานาธิบดีทรัมป์ตัดสินใจโจมตีอิหร่านครั้งนี้ ตอกย้ำว่าผู้นำสหรัฐฯ ต้องการกดดันอิหร่านให้ยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์ ซึ่งเป็นประเด็นหาเสียงก่อนชนะการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังแสดงแสนยานุภาพทางการทหารของสหรัฐฯ ที่สามารถโจมตีโรงงานลับใต้ดินได้ และยืนยันความใกล้ชิดด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิสราเอล อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์ชี้แจงว่าปฏิบัติการของสหรัฐฯ เป็นไปเพื่อยุติการพัฒนานิวเคลียร์ ซึ่งเป็นภัยคุกคามสำคัญ โดยไม่ได้กล่าวถึงการสนับสนุนอิสราเอล
การโจมตีดังกล่าวทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดเพิ่มขึ้น เนื่องจากอิหร่านเคยย้ำว่าหากสหรัฐฯ แทรกแซงสถานการณ์ด้วยการโจมตีโดยตรงต่ออิหร่าน อิหร่านก็พร้อมจะตอบโต้เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ หลังจากการโจมตีดังกล่าว มีรายงานว่าอิหร่านเพิ่มการลาดตระเวนและเตือนภัยทางอากาศ กลุ่มฮูษีในเยเมนประกาศเมื่อ 22 มิถุนายน 2568 ว่าสหรัฐฯ ต้องรับผลกระทบที่จะตามมาจากการโจมตีอิหร่าน ด้านประธานาธิบดีสหรัฐฯ ย้ำว่าหากอิหร่านตอบโต้สหรัฐฯ ก็จะเผชิญการโจมตีที่รุนแรงมากขึ้นเช่นกัน
นาย Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติแถลงว่าสถานการณ์ปัจจุบันค่อนข้างอันตรายและเสี่ยงทำให้ความขัดแย้งขยายตัว พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ ใช้แนวทางการทูตในการแก้ไขปัญหามากกว่าการทหาร นอกจากนี้ หลายฝ่ายติดตามท่าทีของกองทัพอิสราเอล เพราะสหรัฐฯ ได้โจมตีโรงงานนิวเคลียร์ที่สำคัญของอิหร่านไปแล้ว อิสราเอลจึงไม่ควรมีปฏิบัติการโจมตีอีก หากยังโจมตีก็จะเป็นสัญญาณว่าอิสราเอลต้องการบั่นทอนความมั่นคงทางการเมืองในอิหร่าน มากกว่าทำลายขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์
นอกจากบรรยากาศความมั่นคงระหว่างประเทศ การตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์ครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการเมืองภายใน เนื่องจากสมาชิกพรรครีพับลิกันจำนวนมากไม่ต้องการให้สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะสงครามหรือมีส่วนร่วมในความขัดแย้งระหว่างประเทศโดยตรง โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลางที่เคยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมอเมริกัน คาดว่านักการเมืองและชาวอเมริกันจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจากประเด็นนี้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีกำหนดการจะแถลงเกี่ยวกับปฏิบัติการโจมตีอิหร่านใน 22 มิถุนายน 2568