กระทรวงป้องกันประเทศลาว (เทียบเท่ากระทรวงกลาโหม) ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการและกีฬาลาว ประกาศเมื่อ 29 มิถุนายน 2568 เตรียมคัดเลือกทหาร 2,000 นาย เพื่อส่งทำหน้าที่เป็นครูอาสาสมัคร เป้าหมายเพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนครู ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกลบนภูเขาและเข้าถึงได้ยากซึ่งโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ได้รับการพัฒนา ทหารที่ได้รับคัดเลือกจะต้องผ่านการฝึกอบรมพิเศษก่อนถูกส่งไปประจำในห้องเรียน โดยทหารที่เข้าร่วมข้อริเริ่มดังกล่าวจะได้รับค่าตอบแทนและการเลื่อนยศพิเศษ
ลาวเผชิญปัญหาการขาดแคลนครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสมซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน โดยเกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ จำนวนครูไม่เพียงพอ เฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกล เช่น เมืองเซโปน แขวงสะหวันนะเขต มีโรงเรียนทั้งหมด 109 แห่ง มีเพียง 9 แห่งเท่านั้นที่มีครูเพียงพอ ตำแหน่งครูว่างมากกว่า 500 ตำแหน่ง ครูลาออก/เกษียณอายุ และอัตราการรับครูใหม่ไม่สัมพันธ์กับครูที่ออกจากระบบ ขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ
ปัญหาไม่ได้มีแค่จำนวนที่ขาดแคลน ครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสมก็ขาดแคลนเช่นกัน ค่าตอบแทนและสภาพการทำงานที่ไม่จูงใจ นับเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนเลือกประกอบอาชีพอื่นที่มีรายได้ดีกว่า หรือเลือกทำงานในพื้นที่ที่ดีกว่าพื้นที่ห่างไกล และปัญหาสุดท้ายที่ลาวเผชิญคือการวางแผนและการพัฒนาครูยังไม่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เช่น ขาดการกำหนดความจำเป็นในการพัฒนาครูอย่างชัดเจน และการติดตามประเมินผลการพัฒนาครู เป็นต้น
การขาดแคลนครูส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศ ทั้งคุณภาพการศึกษาที่ลดลง เมื่อครูไม่เพียงพอ หรือครูที่สอนขาดความเชี่ยวชาญในวิชานั้น ๆ (เช่น ต้องสอนข้ามวิชา) ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพการเรียนการสอน ทำให้นักเรียนบางส่วนไม่สนใจเรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ภาระงานของครูเพิ่มขึ้น ครูที่มีอยู่ต้องทำงานเกินโควตาและรับผิดชอบงานอื่น ๆ มากมาย ทำให้เกิดความกดดันและประสิทธิภาพในการทำงานลดลงนักเรียนขาดโอกาส โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีครูประจำอาจทำให้นักเรียนขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ หรือต้องเดินทางไกลเพื่อไปโรงเรียนหลัก และส่งผลให้เกิด ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัญหาการขาดแคลนครูในพื้นที่ห่างไกลยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเมืองและชนบท
การนำทหารมาเป็นครูอาสาสมัครเพื่อสอนแทนก็เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา เพิ่มจากที่รัฐบาลลาวเองก็พยายามแก้ไขอยู่ อาทิ การต่ออายุครูเกษียณ ให้ครูที่เกษียณอายุสามารถสอนต่อไปได้โดยได้รับเงินเดือนและสวัสดิการเท่าเดิม รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ที่เคยเป็นครู แต่ลาออกไปทำงานอื่นกลับมาเป็นครูอีกครั้ง พัฒนาแผนยุทธศาสตร์และปรับปรุงนโยบาย เพิ่มแรงจูงใจดึงดูดให้นักศึกษาเลือกประกอบอาชีพครูมากยิ่งขึ้น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงการสอนออนไลน์ในวิชาที่ขาดแคลนครูมาก เช่น ภาษาอังกฤษ หรือคณิตศาสตร์ เป็นต้น
ปัญหาการขาดแคลนครูเป็นความท้าทายที่สำคัญอย่างยิ่งต่อลาว เฉพาะอย่างยิ่งเพื่อใช้ขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศ แต่ลาวก็ได้พยายามใช้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมานาน รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขที่ครอบคลุมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศให้ดีขึ้น