องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ประกาศในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 47 ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อ 11 กรกฎาคม 2568 ให้ “อนุสรณ์สถานแห่งกัมพูชา: จากศูนย์กลางการปราบปรามไปสู่สถานที่แห่งสันติภาพและการรำลึก” (Cambodian Memorial Sites: From centres of repression to places of peace and reflection) เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของกัมพูชาอย่างเป็นทางการ โดยกลุ่มอนุสรณ์สถานแห่งกัมพูชาดังกล่าว ประกอบด้วยสถานที่สำคัญ 3 แห่งที่สะท้อนถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในยุคการปกครองภายใต้ระบอบเขมรแดงระหว่างปี พ.ศ. 2514-2522 ได้แก่
1) พิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวลสเลง (Tuol Sleng Genocide Museum) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “คุกความมั่นคง 21” (Security Prison 21-S21) ตั้งอยู่ในราชธานีพนมเปญ ในอดีตเป็นโรงเรียนมัธยม “Tuol Svay Prey” ต่อมาถูกดัดแปลงเป็นคุกและศูนย์ทรมานหลักของเขมรแดง คาดว่ามีผู้คนถูกจองจำมากกว่า 20,000 คน และเหลือรอดชีวิตเพียงไม่กี่คน โดยรัฐบาลกัมพูชาเปลี่ยนสถานที่แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อปี 2523 เพื่อรำลึกถึงเหยื่อผู้เสียชีวิตและเป็นเครื่องเตือนใจถึงอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
2) ทุ่งสังหารเจืองเอ็ก (Choeung Ek Genocide Centre) ตั้งอยู่ห่างจากใจกลางราชธานีพนมเปญไปทางใต้ประมาณ 17 กิโลเมตร ในอดีตเคยเป็นสวนผลไม้และสุสานชาวจีน ก่อนเขมรแดงเข้ายึดและใช้เป็นสถานที่ประหารชีวิตนักโทษจากคุก S-21 ด้วยวิธีการที่โหดร้าย หลังการล่มสลายของระบอบเขมรแดงเมื่อปี 2522 ได้พบหลุมศพจำนวนมาก โดยปัจจุบันเจืองเอ็กได้กลายเป็นอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงเหยื่อผู้เสียชีวิต
3) เรือนจำ M-13 ตั้งอยู่ใน จ.กัมปงชนัง เป็นหนึ่งในเรือนจำแห่งแรก ๆ ที่เขมรแดงจัดตั้งขึ้น ก่อนที่จะยึดราชธานีพนมเปญได้ในปี 2518 และจัดตั้งคุก S-21 โดยเรือนจำ M-13 ถูกใช้เป็นศูนย์กลางในการควบคุมตัว สอบสวน และทรมานศัตรูของระบอบเขมรแดงในช่วงต้นของการเคลื่อนไหว ต่อมาเมื่อเขมรแดงปกครองประเทศ เรือนจำ M-13 ยังมีบทบาทในการกวาดล้างกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วย โดยนักโทษที่ถูกสอบสวนที่ M-13 จะถูกส่งตัวไปใน
S-21 หรือประหารที่ทุ่งสังหาร
สมเด็จฯ ฮุน มาแนต นรม.กัมพูชา เห็นว่าการได้รับขึ้นทะเบียนมรดกโลกจาก UNESCO ของอนุสรณ์สถานเหล่านี้ส่วนหนึ่งไม่เพียงแต่เป็นความสำเร็จทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แต่ยังเป็นการยืนยันจุดยืนอันแน่วแน่ของกัมพูชาในการต่อต้านสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ นับเป็นเครื่องเตือนใจถึงที่ช่วยให้ประเทศสามารถเผชิญหน้ากับอดีตอันเจ็บปวดได้อย่างเปิดเผย และใช้บทเรียนเหล่านั้นเพื่อสร้างอนาคตที่สงบสุขและป้องกันไม่ให้โศกนาฏกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นอีกความสำคัญยิ่งของความสามัคคีในการรักษาสันติภาพ เพื่อเป็นมรดกให้กับคนรุ่นหลัง
กัมพูชามีแหล่งมรดกโลกที่ขึ้นทะเบียน UNESCO อยู่แล้ว 4 แห่ง ประกอบด้วย 1) นครวัด (Angkor)
ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2535 เป็นแหล่งโบราณสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สะท้อนวัฒนธรรมอาณาจักรเขมรโบราณตั้งแต่ ศตวรรษที่ 9-15 2) ปราสาทพระวิหาร (Temple of Preah Vihear) ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2551 เป็นปราสาทหินตามแบบศาสนาฮินดู สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 11 ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงของเทือกเขาพนมดงรัก
3) เขตปราสาทสมโบร์ไพรกุก (Temple Zone of Sambor Prei Kuk) ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2560 เป็นอดีตเมืองหลวงของอาณาจักรเจนละในปลายศตวรรษที่ 6 และ 4) เกาะแกร์ (Koh Ker) ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2566 เป็นอดีตเมืองหลวงของอาณาจักรเขมรภายใต้การปกครองของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 10
แม้ว่ากัมพูชาจะมีแหล่งมรดกโลกอยู่แล้ว 4 แห่ง แต่อนุสรณ์สถานแห่งกัมพูชาเป็นการเสนอชื่อแหล่งโบราณคดีสมัยใหม่และไม่ใช่โบราณสถานแห่งแรกของกัมพูชา และยังเป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีแห่งแรกๆ ของโลกที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นแหล่งที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วการขึ้นทะเบียนอนุสรณ์สถานแห่งกัมพูชา นอกจากแสดงถึงความตั้งใจที่จะยกระดับความสำคัญของสถานที่เหล่านี้ให้เป็นที่รู้จักและได้รับการปกป้องในระดับสากล ยังเป็นไปเพื่อเตือนใจถึงอาชญากรรมต่อมนุษยชาติครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของโลก