มูลนิธิกระจกเงาแจ้งเตือนภัย “เด็กหาย” ซึ่งพบมากขึ้นในช่วงเปิดภาคเรียน และรายงานข้อมูลที่บ่งชี้ว่าจำนวนเด็กหายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี อ้างอิงจากสถิติเมื่อปี 2563 อยู่ที่จำนวน 222 คน และเมื่อปี 2566 เพิ่มเป็น 298 คน ขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 มีรายงานเด็กหายแล้ว 134 คน ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 11 – 15 ปี หรือช่วงแรกของวัยรุ่นที่ตัดสินใจออกจากบ้าน เพราะปัญหาครอบครัว หรือหลงเชื่อบุคคลภายนอกจนไม่ยอมกลับบ้าน รองลงมาคือ กลุ่มเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญาที่พลัดหลงกับครอบครัว ซึ่งบางรายไม่สามารถตามตัวกลับมาได้ และกลุ่มสุดท้ายที่เริ่มพบมากขึ้นคือ กลุ่มเด็กวัย 3 – 8 ขวบ ที่เป็นเป้าหมายถูกลักพาตัว โดยข้อมูลเมื่อปี 2566 พบมีเด็กถูกลักพาตัวถึง 6 ราย จากคนร้ายที่มักเป็นคนใกล้ชิดหรือคนคุ้นหน้าของครอบครัว
ขณะที่นักวิชาการด้านอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาเด็กถูกลักพาตัวมากขึ้นว่าเกิดจากโครงสร้างครอบครัวในยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นเด็กต้องอาศัยอยู่กับญาติหรือปู่ย่าตายาย บางส่วนเกิดจากความไม่พร้อมของบิดามารดา และเกิดจากมารดาที่มีอายุมาก จึงส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและสติปัญญาบกพร่อง รวมถึงเห็นว่าสภาพแวดล้อมของเด็กที่ขาดความใกล้ชิดของผู้ปกครองได้กลายเป็นจุดอ่อนให้คนร้ายใช้เป็นช่องทางลักพาตัวเด็ก โดยเฉพาะครอบครัวเปราะบางที่ยากจนจะตกเป็นเหยื่อได้ง่าย