กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้แทนพรรคเดโมแครตลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปลายปีนี้ พร้อมนายทิม วอลส์ คู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของพรรคเดโมแครต (running mate) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนครั้งแรก ผ่านสำนักข่าว CNN เมื่อ 29 สิงหาคม 2567 เน้นประเด็นสร้างความเชื่อมั่นในระบบการเมืองสหรัฐฯ และนโยบาย เฉพาะอย่างยิ่งนโยบายความมั่นคงบริเวณชายแดน และนโยบายพลังงาน โดยในประเด็นการเมือง แฮร์ริสพร้อมที่จะทำงานร่วมกับสมาชิกพรรครีพับลิกัน เพื่อร่วมกันตัดสินใจเรื่องสำคัญ และให้คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยความหลากหลาย แต่ยังไม่มีการกำหนดตัวบุคคลล่วงหน้า
แฮร์ริสปฏิเสธที่จะโจมตีทรัมป์ในประเด็นส่วนตัว แต่มุ่งโจมตีทรัมป์ประเด็นความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายช่วงที่เป็นผู้นำประเทศ เนื่องจากทรัมป์ขัดขวางกฎหมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่บริหารจัดการความมั่นคงบริเวณชายแดน นอกจากนี้ แฮร์ริสยังเน้นโน้มน้าวให้ชาวอเมริกันก้าวผ่านยุคสมัยของทรัมป์ด้วย ส่วนวอลส์ คู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ปฏิเสธที่จะโจมตี JD Vance ผู้สมัครของพรรครีพับลิกันเช่นกัน
สื่อให้ความสนใจท่าทีของแฮร์ริสต่อเรื่องการขุดเจาะน้ำมันแบบใช้แรงดันน้ำ หรือ fracking โดยยืนยันว่าไม่คัดค้านหรือคว่ำบาตรการขุดเจาะน้ำมันแบบใช้แรงดันน้ำ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2562 แฮร์ริสคัดค้านการขุดเจาะน้ำมันรูปแบบดังกล่าว เพราะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูงมาก อย่างไรก็ตาม สื่อคาดว่า แฮร์ริสเปลี่ยนท่าที เนื่องจากต้องการสร้างคะแนนนิยมให้ประชาชนในรัฐเพนซิลเวเนีย ที่เป็นพื้นที่ขุดเจาะน้ำมันด้วยวิธีการดังกล่าว ซึ่งวิธีการนี้สร้างรายได้และความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ มุมมองดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณว่า หากแฮร์ริสได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาด ควบคู่กับยังอนุญาตให้มีการผลิตพลังงานรูปแบบเดิม เพื่อรักษาการจ้างงานในรัฐที่มีรายได้จากการผลิตน้ำมันแบบ fracking
นอกจากเรื่องภายในประเทศ แฮร์ริสตอบคำถามเกี่ยวกับนโยบายต่อสถานการณ์ในฉนวนกาซา โดยแฮร์ริสยืนยันว่าอิสราเอลมีสิทธิที่จะปกป้องความมั่นคงของตัวเอง และสหรัฐฯ จะดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้ข้อตกลงหยุดยิงบรรลุผล เพื่อลดความสูญเสียต่อพลเรือนชาวปาเลสไตน์ สำหรับประเด็นนี้ ชาวอเมริกันให้ความสนใจมาก เพราะบางส่วนไม่พอใจการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนในปัจจุบัน และคาดหวังให้แฮร์ริสดำเนินนโยบายที่แตกต่างออกไป สื่อตั้งข้อสังเกตว่า หากแฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง จะแต่งตั้งให้นาย Phillip Gordon ที่ปรึกษาความมั่นคงของรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาต่อไป และจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของแฮร์ริส ซึ่งมีแนวทางเป็นรูปแบบเดิม (old-fashioned American foreign policy) คือ มุ่งผลักดันการเจรจาหยุดยิง และสนับสนุนแนวทาง 2 รัฐ (two-state solution)