ศาลนครนิวยอร์กเมื่อ 10 มกราคม 2568 ประกาศคำตัดสินคดีว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วัย 78 ปี ติดสินบนและปลอมแปลงเอกสารเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเมื่อปี 2559 โดยระบุว่ามีความผิดจริง แม้ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะปฏิเสธ อย่างไรก็ดี ผู้พิพากษาระบุว่าจะปล่อยตัวว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์โดยไม่มีเงื่อนไข และไม่ต้องได้รับโทษจำคุก เนื่องจากรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ปกป้องผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจากการถูกดำเนินคดีอาญา ทำให้ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์สามารถเข้าพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่แทนประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน ใน 20 มกราคม 2568 ได้ แม้ว่าจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกในประวัติศาสตร์ที่มีคดีอาญาติดตัวก่อนสาบานตนรับตำแหน่งก็ตาม
สำหรับรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ไม่ได้กำหนดห้ามผู้ที่มีคดีอาญาติดตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพียงแต่มีข้อกำหนดชัดเจนเรื่องอายุ ความเป็นพลเมืองโดยกำเนิด และการพำนักอาศัยในสหรัฐฯ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มาตรา 2 ระบุว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองอย่างสมบูรณ์ (presidential immunity) ทางกฎหมายให้พ้นจากการถูกดำเนินคดีอาญา รวมทั้งการฟ้องร้องค่าเสียหายทางแพ่ง
การตัดสินของศาลดังกล่าวเป็นการยุติคดีที่ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ถูกกล่าวโทษตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ไม่ได้เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ในการจะเป็นประธานาธิบดี เพราะเขายืนยันว่าไม่มีความผิด มองว่าการกล่าวโทษเขาเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง และตั้งใจจะประกาศอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าวในระหว่างเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ด้วย ก่อนหน้านี้ ทีมทนายของว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ พยายามยื่นเรื่องให้ศาลนครนิวยอร์กเลื่อนกำหนดการประกาศคำตัดสินออกไปหลังพิธีสาบานตน แต่ไม่สำเร็จ ด้านศาลนครนิวยอร์กระบุว่า แม้ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะไม่ต้องโทษจำคุกหรือจ่ายค่าปรับ แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่าเขามีความผิด สะท้อนว่าระบบยุติธรรมของสหรัฐฯ ยังเที่ยงตรงและเชื่อถือได้
นอกจากประเด็นความผิดข้างต้นแล้ว ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ ยังถูกสื่อสหรัฐฯ วิจารณ์กรณีแสดงท่าทีต่อเหตุการณ์ไฟป่ารุนแรงและครั้งใหญ่ที่รัฐแคลิฟอร์เนียที่เกิด ว่าเป็นการกล่าวโทษโดยใช้ข้อมูลเท็จ และใช้เหตุการณ์นี้โจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง มากกว่าเสนอความช่วยเหลือหรือแสดงความเห็นใจต่อประชาชนชาวอเมริกันที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากเมื่อ 10 มกราคม 2568 ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ วิจารณ์ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นความผิดพลาดของผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เน้นให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าการลงทุนเพื่อเพิ่มความปลอดภัยสาธารณะ และรัฐบาลปัจจุบันที่ไม่จัดสรรงบประมาณให้สำนักงานจัดการเหตุฉุกเฉินของรัฐบาลกลาง (FEMA) เพียงพอ