การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ ผันผวนและปั่นป่วนรุนแรงเมื่อ 10 มี.ค.68 รวมทั้งส่งผลไปยังตลาดต่างประเทศ เนื่องจากวิตกเพิ่มขึ้นกับทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เฉพาะอย่างยิ่งนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และการระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งยังมีวิตกกับทิศทางเศรษฐกิจอย่างมากที่ความเสี่ยงเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) หรือภาวะที่ GDP ลดลงติดต่อกันสองไตรมาส โดยดัชนีหุ้นดาวโจนส์ปิดตลาดลดลงร้อยละ 0.96 จุด ดัชนี S&P 500 ลดลงร้อยละ 1.4 และดัชนี Nasdaq Composite ลดลง ร้อยละ 1.95
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า ท่าทีและการประกาศนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์มีผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์และการตัดสินใจของนักลงทุนอย่างมาก ทั้งนโยบายเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การลดระเบียบกฎหมายการลงทุน และการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงาน แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐ จะใช้มาตรการเหล่านี้เพื่อเพิ่มการจ้างงานในประเทศและกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่นโยบายเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและราคาสินค้าในสหรัฐฯ มากที่สุด เนื่องจากสหรัฐฯ จะเก็บอัตราภาษีนำเข้าสินค้าสูงขึ้น แต่กลับยังไม่มีกำหนดการที่แน่นอน เช่น การที่สหรัฐฯ เลื่อนการใช้มาตรการภาษีใหม่ต่อเม็กซิโกและแคนาดา
นอกจากนโยบายภาษีและการที่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยเมื่อ 9 ก.พ.68 แล้ว นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ยังรอการเผยแพร่ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ ที่คาดว่าจะเผยแพร่ใน 12-13 มี.ค.68 ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยด้วย
ท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศเช่นกัน นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญบางส่วนประเมินว่าประธานาธิบดีทรัมป์สร้างความวุ่นวายและสับสนในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจค่อนข้างมั่นคงและชาวอเมริกันยังมีความสามารถในการใช้จ่าย ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่ราคาพลังงานก็ลดลง รวมทั้งมีแนวโน้มที่รัฐบาลจะมีนโยบายผ่อนปรนภาษีชาวอเมริกันด้วย ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเชื่อว่าสหรัฐฯ จะไม่เผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้ามากขึ้น โดยเฉพาะจีน เม็กซิโกและเคนาดา อาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อควบคู่กัน หรือ Stagflation ก่อน