กองทัพจีน (PLA) ใช้เรือบรรทุกเครื่องบินซานตง (Shandong) ปฏิบัติการและฝึกซ้อมในบริเวณทะเลจีนตะวันออก ใกล้ช่องแคบไต้หวัน เพื่อป้องปรามความเคลื่อนไหวที่อาจเป้นภัยคุกคามต่อจีน โดยเมื่อ 2 เมษายน 2568 จีนระบุว่า เรือบรรทุกเครื่องบิน Shandong และกองบัญชาการภาคตะวันออกของกองทัพจีน สามารถควบคุมความเคลื่อนไหวของไต้หวันได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางการนำเข้าพลังงาน เส้นทางการรับความช่วยเหลือด้านการทหารจากต่างประเทศ และเส้นทางหลบหนี เพราะจากการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกันระหว่างกองทัพเรือและกองทัพอากาศจีน รหัส “Strait Thunder-2025A” สะท้อนชัดเจนว่าจีนสามารถโจมตีไต้หวันได้ทั้งเป้าหมายบทบกและบนทะเล ตลอดจนสามารถเคลื่อนกำลังพลไปยังภาคตะวันออกของไต้หวันได้อย่างรวดเร็ว
การฝึกซ้อมทางทหารของกองทัพจีนบริเวณช่องแคบไต้หวันยกระดับความจริงจังและใช้ยุทโธปกรณ์สำคัญมากขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับพื้นที่ภาคตะวันออกของไต้หวัน เนื่องจากเป็นที่ตั้งฐานทัพอากาศ Chiashan ของไต้หวัน และจีนเชื่อว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ไต้หวันใช้นำเข้าพลังงาน และสะสมกำลังทหาร ปัจจุบัน จีนต้องการส่งสัญญาณให้ต่างประเทศเห็นว่าไม่ควรแทรกแซงกิจการภายในของจีน ด้วยการเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงกับไต้หวัน หรือดำเนินนโยบายที่สนับสนุนไต้หวันให้เป็นเอกราชจากจีน จีนเชื่อว่าไต้หวันมีกลุ่มคนที่สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชพยายามสร้างความเชื่อให้กับประชาชนว่าจีนจะไม่ใช้กำลังทหารเพื่อรวมชาติ ดังนั้น จีนจึงจำเป็นต้องส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าจะไม่ยินยอมให้กลุ่มแบ่งแบกจีนเคลื่อนไหวได้ตามเป้าหมาย ตลอดจนเตือนว่าความพยายามแบ่งแยกประเทศจะนำไปสู่สงครามเท่านั้น
บรรยากาศด้านความมั่นคงในช่องแคบไต้หวันและทะเลจีนตะวันออกมีแนวโน้มตึงเครียดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นระยะ ๆ เนื่องจากจีนเพิ่มการฝึกซ้อมทางการทหาร ขณะที่ประเทศตะวันตกยืนยันท่าทีสนับสนุนสถานะปัจจุบันของไต้หวัน แต่ก็ไม่ได้ให้คำมั่นว่าจะส่งกองกำลังเข้าไปช่วยเหลือหากเผชิญปฏิบัติการทางทหารจากจีน ล่าสุดสหรัฐฯ ย้ำเมื่อ 2 เมษายน 2568 ว่าให้ความสำคัญกับความมั่นคงของไต้หวัน ด้านนักวิเคราะห์ต่างประเทศเชื่อว่า กองทัพจีนยังมีจุดอ่อนที่ไต้หวันและสหรัฐฯ อาจแสวงประโยชน์ได้ แม้ว่ากองทัพจีนจะพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีกำลังทหารจำนวนมาก แต่ยังเสียเปรียบสหรัฐฯ ในมิติระบบสั่งการและการควบคุมปฏิบัติการร่วม (C2) การทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (EW) การป้องกันขีปนาวุธ ระบบเรดาร์ และการทำสงครามไซเบอร์