รัฐบาลอิสราเอลประกาศเมื่อ 2 เม.ย.68 ขยายปฏิบัติการทางการทหารในฉนวนกาซา เป้าหมายเพื่อกวาดล้างกลุ่มก่อการร้าย รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกของกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่ พร้อมกับสั่งให้ชาวปาเลสไตน์อพยพออกจากพื้นที่สงคราม อย่างไรก็ตาม อิสราเอลยังไม่เปิดเผยรายละเอียดการปฏิบัติการภาคพื้นดิน นักวิเคราะห์เชื่อว่าอิสราเอลจะใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเป็นหลัก นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอิสราเอลยังประกาศว่า กองทัพอิสราเอลจะสร้างพื้นที่ด้านความมั่นคง หรือ Security Zones ในฉนวนกาซา ซึ่งภายหลัง นรม.เบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลระบุว่าจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางตอนใต้ของฉนวนกาซา เพื่อประจำการทหารอิสราเอล ชื่อ Morag corridor ทั้งนี้ อิสราเอลเคยยึดครองพื้นที่ตอนใต้ของฉนวนกาซาชั่วคราว ได้แก่บริเวณเมือง Rafah และ Khan Younis ด้านรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอิสราเอลระบุว่า Security Zones อาจครอบคลุมพื้นที่บริเวณพรมแดนอิสราเอล-ฉนวนกาซาทั้งหมด
การประกาศขยายปฏิบัติการทหารและครอบครองพื้นที่ในฉนวนกาซาทำให้ทั่วโลกวิตกว่าจะทำให้ความรุนแรงและสงครามยืดเยื้อ เนื่องจากอิสราเอลจะไม่ยุติปฏิบัติการทางทหารทั้งในพื้นที่ตอนใต้และตอนเหนือ ทำให้สหประชาชาติประเมินว่าพื้นที่ร้อยละ 60 ของฉนวนกาซาเป็นพื้นที่อันตราย นอกจากการประกาศขยายปฏิบัติการด้านการทหาร รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอิสราเอลยังระบุว่าจะขอความร่วมมือจากชาวปาเลสไตน์ให้ช่วยขับไล่กลุ่มฮะมาสออกจากฉนวนกาซา และร่วมกดดันให้กลุ่มฮะมาสปลดอาวุธ โดยย้ำว่าเป็นหนทางเดียวที่จะยุติสงครามได้ รวมทั้งเป็นการยุติวิกฤตด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีรายงานว่าชาวปาเลสไตน์จำนวนมากขาดแคลนสารอาหาร
ก่อนหน้านี้ อิสราเอลยื่นข้อเสนอข้อตกลงหยุดยิง แต่กลุ่มฮะมาสไม่ตอบรับ โดยเมื่อ 1 เม.ย.68 อิสราเอลเสนอข้อตกลงหยุดยิงเป็นระยะเวลา 40 วัน โดยให้กลุ่มฮะมาสปล่อยตัวประกันจำนวน 11 คน และส่งคืนร่างตัวประกันที่เสียชีวิตแล้ว 16 รายให้กับอิสราเอล เพื่อให้การช่วยเหลือตัวประกันมีความคืบหน้าและลดแรงกดดันทางการเมืองภายใน ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจรัฐบาล เพราะการช่วยเหลือตัวประกันล่าช้า อย่างไรก็ตาม กลุ่มฮะมาสและประเทศผู้ประสานงาน ได้แก่ อียิปต์และกาตาร์ ยังไม่ตอบรับข้อเสนอของอิสราเอล ดังนั้น การขยายปฏิบัติการทางทหารอาจเป็นความพยายามของอิสราเอลในการกดดันให้ชาวปาเลสไตน์ออกไปชุมนุมต่อต้านกลุ่มฮะมาสมากขึ้น เพื่อกดดันกลุ่มฮะมาสให้ปล่อยตัวประกันตามที่อิสราเอลต้องการ
ความรุนแรงที่ขยายตัวมากขึ้นอาจทำให้กลุ่มฮะมาสต้องทบทวนท่าทีในการต่อรองและเจรจากับอิสราเอล แต่คาดว่ากลุ่มฮะมาสจะไม่ยอมปลดอาวุธ เนื่องจากจะเป็นโอกาสให้อิสราเอลแทรกแซง