ทางการอิหร่านเมื่อ 3 เมษายน 2568 ยกระดับการป้องกันภัยคุกคามจากการโจมตีโดยต่างประเทศ พร้อมกับเตรียมพร้อมตอบโต้หากมีการโจมตีมาตุภูมิอิหร่าน ท่าทีดังกล่าวมีขึ้นหลังจากอิสราเอลและสหรัฐฯ ปฏิบัติการโจมตีกองกำลังติดอาวุธในภูมิภาคตะวันออกกลางที่อิหร่านให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มฮะมาส กลุ่มฮิซบุลลอฮ์ และกลุ่มฮูษี ตลอดจนเพิ่มการประจำการยุทโธปกรณ์ในภูมิภาค โดยเฉพาะเครื่องบินรบและเครื่องบินทิ้งระเบิด ซึ่งอิหร่านประเมินว่าเป็นการเตรียมความพร้อมกดดันและโจมตีอิหร่านเพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้งเชื่อว่า สหรัฐฯ ต้องการข่มขู่อิหร่านเพื่อกดดันให้ต่ออายุข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์ (JCPOA) และปรับให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ก่อนที่ข้อตกลงดังกล่าวจะหมดอายุในปลายปี 2568
สาเหตุที่ทำให้อิหร่านเชื่อว่าสหรัฐฯ อาจโจมตีอิหร่าน โดยเฉพาะโรงงานพัฒนานิวเคลียร์ เนื่องจากเมื่อมีนาคม 2568 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ส่งหนังสือผ่านสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อให้นาย Ayatollah Ali Khamenei ผู้นำสูงสุดของอิหร่านทำข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับใหม่กับสหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 2 เดือน ก่อนหน้านี้ ผู้นำสหรัฐฯ หารือกับประธานาธิบดีรัสเซียเรื่องอิหร่านด้วย แม้ว่าผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้เปิดเผยว่าจะตอบโต้อิหร่านอย่างไร หากไม่มีการทำข้อตกลงภายใน 2 เดือน แต่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า สหรัฐฯ อาจพิจารณาทุกเครื่องมือเพื่อกดดันอิหร่าน รวมทั้งการปฏิบัติการทางทหารต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านด้วย ท่าทีดังกล่าวทำให้อิหร่านไม่พอใจอย่างมาก เนื่องจากเป็นการข่มขู่
การที่อิหร่านประกาศเตือนความตึงเครียดในตะวันออกกลาง รวมทั้งส่งสัญญาณว่าอาจเกิดความขัดแย้งครั้งสำคัญ ถึงระดับสงครามในภูมิภาค อาจเป็นความพยายามดึงความสนใจจากประชาคมระหว่างประเทศให้ติดตามความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ในมิติการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน สถานการณ์ในฉนวนกาซา และการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ กำลังเบี่ยงเบนความสนใจของนานาชาติจากสถานการณ์ความขัดแย้งอื่น ๆ ที่ผ่านมา อิหร่านยืนยันว่าปฏิบัติตามข้อตกลง JCPOA มาโดยตลอด และมีสหภาพยุโรปให้การรับรอง แต่สหรัฐฯ ไม่เชื่อมั่นและกล่าวหาอิหร่านว่าแสวงประโยชน์จากข้อตกลงนี้ ทำให้สหรัฐฯ ยังคงคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน
อิหร่านจะโน้มน้าวให้นานาชาติสนับสนุนอิหร่านในประเด็นข้อตกลงพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ โดยเฉพาะมหาอำนาจ ได้แก่ รัสเซีย จีน และยุโรป ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 3 ฝ่ายสนับสนุนการทำข้อตกลง JCPOA เนื่องจากเปิดโอกาสให้นานาชาติร่วมมือ ควบคู่ตรวจสอบกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านได้