นาย Khalil al-Hayya ผู้แทนการเจรจาของกลุ่มฮะมาสเปิดเผยต่อสื่อมวลชนเมื่อ 18 เมษายน 2568 ว่า กลุ่มฮะมาสปฏิเสธข้อเสนอความตกลงหยุดยิงของอิสราเอล ที่เสนอให้กลุ่มฮะมาสปล่อยตัวประกันทั้งหมด แลกเปลี่ยนกับการเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งกลุ่มฮะมาสเห็นว่า ความตกลงดังกล่าวจะเอื้อผลประโยชน์ทางการเมืองให้ นายเบนจามิน เนทันยาฮู นรม.อิสราเอล ฝ่ายเดียว เนื่องจากไม่มีการระบุถึงการถอนทหารของอิสราเอลออกจากพื้นที่ หรือการปล่อยตัวชาวปาเสสไตน์ที่อยู่ในการควบคุมของอิสราเอล การปฏิเสธความตกลงดังกล่าวทำให้ปัจจุบันสถานการณ์ความมั่นคงในฉนวนกาซาและเขตเวสต์แบงก์ รวมทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางยังตึงเครียด โดยอิสราเอลยังปฏิบัติการโจมตีในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในพื้นที่ที่มีพลเรือนอาศัยอยู่ เฉพาะอย่างยิ่งค่ายผู้ลี้ภัยและค่ายผู้พลัดถิ่น ปัจจุบันจำนวนผู้เสียชีวติในฉนวนกาซาอยู่ที่ประมาณ 51,000 คน ตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มต้นเมื่อ ตุลาคม 2566
สถาการณ์ความรุนแรงและการปะทะด้วยยุทธวิธีทางทหารในพื้นที่อื่น ๆ ของภูมิภาคตะวันออกกลางตึงเครียดมากขึ้น โดยเฉพาะในเยเมน จากกรณีสหรัฐฯ ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อท่าเรือ Ras Isa ของเยเมน เมื่อ 18 เมษายน 2568 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 38 ราย ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 100 ราย ด้านกลุ่มฮูษีที่เป็นกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ ระบุว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นการโจมตีครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ ขณะที่กองบัญชาการภาคพื้นกลางของสหรัฐฯ (CENTCOM) ยืนยันว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นไปเพื่อตัดช่องทางการเงินสนับสนุนกลุ่มฮูษี ซึ่งสหรัฐฯ ถือว่าเป็นภัยคุกคามของเยเมนและนานาชาติ ตลอดจนอาจเป็นการตอบโต้กลุ่มฮูษีที่มีรายงานก่อนหน้านี้ว่าพยายามโจมตีอิสราเอลด้วยขีปนาวุธ สำหรับท่าเรือ Ras Isa ของเยเมน เป็นที่ตั้งโกดังเก็บน้ำมันและจุดวางท่อขนส่งน้ำมัน รวมทั้งเป็นจุดรับ-ส่งสินค้าและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่สำคัญของเยเมนด้วย
องค์การสหประชาชาติยังคงแสดงบทบาทเพื่อเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งยุติความรุนแรง และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงในพื้นที่ที่เสี่ยงอันตราย ล่าสุดเมื่อ 17 เมษายน 2568 สนง.บรรเทาทุกข์และงานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) เผยแพร่คำเตือนว่า ปัจจุบันสงครามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางน่าห่วงกังวล เพราะสื่อที่น่าเชื่อถือและเป็นอิสระทางการเมือง ไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ขัดแย้งได้ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงและเผชิญมาตรการกีดกันของอิสราเอล ทำให้เกิดการโฆษณาชวนเชื่อและการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน รวมทั้งข่าวปลอมเกี่ยวกับเหตุการณ์ในฉนวนกาซาและตะวันออกกลางมากขึ้น ดังนั้น UNRWA จึงเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและการรับประกันความปลอดภัยของสื่อมวลชนที่ควรได้รับโอกาสให้เข้าไปติดตามสถานการณ์ในฉนวนกาซาอย่างปลอดภัย