ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เมื่อ 24 เมษายน 2568 ประณามรัสเซียกรณีโจมตีกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ครั้งล่าสุดด้วยขีปนาวุธ ทำให้มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 รายและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ประธานาธิบดีทรัมป์เผยแพร่ถ้อยแถลงประณามผ่านสื่อสังคมออนไลน์ Truth Social โดยวิจารณ์ว่าการกระทำของรัสเซียเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและเกิดขึ้นในเวลาที่ไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็ทำให้ทหารจำนวนมากต้องเสียชีวิตในการทำสงครามด้วย สำหรับการโจมตีดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคต่อสหรัฐฯ ที่กำลังผลักดันการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน เพื่อให้เป็นผลงานการสร้างสันติภาพและยุติความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ผู้นำสหรัฐฯ ต้องการทำให้สำเร็จตามที่หาเสียงไว้ นอกจากนี้ การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประณามรัสเซียเป็นการเปลี่ยนท่าที จากที่ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีทรัมป์หลีกเลี่ยงการประณามรัสเซียโดยตรง จนทำให้นานาชาติกังวลว่าสหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายสนับสนุนการทำสงครามของรัสเซีย
สหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าผลักดันการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งต่อไป โดยประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่าทั่วโลกจะได้เห็นพัฒนาการที่สำคัญเร็ว ๆ นี้ และเชื่อว่าสหรัฐฯ จะทำให้รัสเซียกับยูเครนทำข้อตกลงระหว่างกันได้ ทั้งนี้ มีรายงานว่าสหรัฐฯ เสนอให้รัฐบาลยูเครนยอมรับให้รัสเซียมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนไครเมีย ซึ่งสหรัฐฯ ก็จะรับรองด้วย อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดียูเครนปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว แม้ว่ารัสเซียจะผนวกดินแดนไครเมียไปตั้งแต่ปี 2557 แต่รัฐบาลยูเครนยืนยันและย้ำต่อประชาคมระหว่างประเทศว่าไครเมียเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของยูเครน และยูเครนจะไม่ยอมให้ประเทศอื่นมาละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน
นักวิเคราะห์ต่างประเทศประเมินว่าสหรัฐฯ จะไม่สามารถโน้มน้าวให้ยูเครนสละดินแดนไครเมียให้รัสเซีย แม้ว่าปัจจุบันรัสเซียจะปกครองดินแดนดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ยูเครนใช้อำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 2 เพื่อขัดขวางการรับรองตามกฎหมายให้ไครเมียเป็นดินแดนของรัสเซีย นอกจากนี้ ยูเครนจะอ้างปฏิญญาไครเมียเมื่อปี 2561 ที่รัฐบาลทรัมป์สมัยแรกสนับสนุนยูเครนด้วย
หากยูเครนยอมรับให้รัสเซียมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนไครเมียจะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในทะเลดำ ซึ่งประเทศในภูมิภาคยุโรปไม่ต้องการให้รัสเซียขยายอิทธิพล โดยเฉพาะโรมาเนียที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับดินแดนไครเมีย ที่ผ่านมา ประเทศยุโรปและเนโตส่งเครื่องบินลาดตระเวนเข้าไปในทะเลดำอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามพัฒนาการของรัสเซียในไครเมีย โดยเฉพาะการวางกำลังและยุทโธปกรณ์ที่อาจเป็นความท้าทายของยุโรป