ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะเดินทางไป 3 ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางระหว่าง 13-16 พฤษภาคม 2568 ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเคสต์ (UAE) ซึ่งเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกของประธานาธิบดีทรัมป์หลังจากเข้ารับตำแหน่งในสมัยที่ 2 ซึ่งทำให้ทั่วโลกจับตามองการเยือนครั้งนี้ว่าทำไมผู้นำสหรัฐฯ เลือกเยือน 3 ประเทศพันธมิตรนี้ และอะไรคือผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ และความมั่นคงที่ทั้ง 3 ประเทศจะใช้ต่อรองกับผู้นำสหรัฐฯ เช่นกัน
ทั้ง 3 ประเทศในตะวันออกกลางนี้ มีนโยบายเสริมสร้างบทบาทมหาอำนาจในภูมิภาคและการเพิ่มบทบาทเป็นตัวกลางการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาขัดแย้งในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน สถานการณ์ในฉนวนกาซา และการรับมือกับอิหร่าน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ ด้วย
ผู้นำสหรัฐฯ ต้องการใช้การเยือนครั้งนี้ส่งสัญญาณให้ทั่วโลกเห็นว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับพันธมิตรที่พร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็ทำให้ทั่วโลกเห็นว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ และความมั่นคงของสหรัฐฯ มากที่สุดในมุมมองของประธานาธิบดีทรัมป์ แตกต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ ที่ผู้นำสหรัฐฯ อาจมองว่ามีอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ สูงมากและไม่พร้อมเจรจาต่อรองผลประโยชน์กับสหรัฐฯ ขณะที่ 3 ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางนี้พร้อมเจรจาซื้อ-ขายอาวุธกับสหรัฐ รวมทั้งหารือเรื่องการลงทุนระหว่างประเทศที่มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์สามารถใช้เป็นผลงานทางการเมืองได้
มีความเป็นไปได้สูงมากที่ผลลัพธ์การเยือนครั้งนี้จะมีข้อตกลงหรือความคืบหน้าความร่วมมือด้านการซื้อขายเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พลังงาน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการแลกเปลี่ยนการลงทุนระหว่างประเทศ โดยให้จับตามองการดำเนินนโยบายการทูตเชิงรุก (diplomatic offensive) ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะมีข้อเสนอ พร้อมสร้างแรงกดดันให้ทั้ง 3 ประเทศร่วมมือกับสหรัฐฯ ในประเด็นต่าง ๆ ตามผลประโยชน์ของสหรัฐฯ
ปัจจุบัน แนวทางการดำเนินนโยบาย diplomatic offensive ของผู้นำสหรัฐฯ เริ่มประสบความสำเร็จมากขึ้น ล่าสุดคือการบรรลุการเจรจาลดภาษีตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน นอกจากนี้ คาดว่าทั้ง 3 ประเทศต้องการซื้อเทคโนโลยีป้องกันประเทศจากสหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในช่วงที่สถานการณ์ในภูมิภาคยังคงตึงเครียดและเสี่ยงอันตราย จากสงครามในฉนวนกาซาและท่าทีของอิหร่านที่แข้งกร้าวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียและจีน