สถานการณ์ความตึงเครียดและการปะทะทางทหารบริเวณพรมแดนไทย-กัมพูชาระหว่าง 24-27 กรกฎาคม 2568 ยังคงได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศที่เน้นรายงานท่าทีอย่างเป็นทางการของรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายที่ปัจจุบันแสดงจุดยืนว่าต้องการสันติภาพและหยุดยิงระหว่างกัน ตลอดจนมีการประเมินว่าไทยยังคงเป้นฝ่ายได้เปรียบทางการทหารและเศรษฐกิจมากกว่ากัมพูชม หากสถานการณ์ยืดเยื้อ
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในพื้นที่พรมแดนยังน่าห่วงกังวล เพราะมีรายงานการยิงตอบโต้และการปะทะทางทหาร รวมทั้งมีรายงานการยึดครองพื้นที่บริเวณพรมแดนเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการทหาร ปฏิบัติการทางทหารต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ สื่อต่างประเทศรายงานว่าปัจจุบันคนไทยประมาณ 140,000 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัย ขณะที่ชาวกัมพูชาประมาณ 38,000 ต้องอพยพออกจากพื้นที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกัน
ประชาชนชาวกัมพูชาที่ได้รับผลกระทบและต้องอพยพจากพื้นที่ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ โดยวิตกว่าสถานการณ์ที่ยืดเยื้อจะทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารและของใช้ที่จำเป็น เนื่องจากปัจจุบันความช่วยเหลือจากรัฐบาลค่อนข้างจำกัด แม้ว่าจะมีความพยายามระดมความช่วยเหลือจากพื้นที่ใกล้เคียงแล้วก็ตาม นอกจากนี้ สื่อมวลชนต่างประเทศรายงานมาตรการของฝ่ายไทยที่ประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่เสี่ยงเพื่อควบคุมสถานการณ์ มีการตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวช่วยเหลือประชาชน ขณะที่ภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่อื่น ๆ อยู่ระหว่างระดมความช่วยเหลือไปให้ผู้ทีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้
ผู้นำต่างประเทศแสดงบทบาทโน้มน้าวและไกล่เกลี่ยให้ไทยและกัมพูชาหยุดยิง ตลอดจนเข้าสู่กระบวนการเจรจายุติความขัดแย้ง ทั้งผู้นำมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียน และที่สำคัญเมื่อ 26 กรกฎาคม 2568 คือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ที่เปิดเผยว่าได้โทรศัพท์หารือกับผู้นำไทยและกัมพูชาเพื่อโน้มน้าวให้หยุดยิงทันที รวมทั้งแก้ไขปัญหาความตึงเครียดและสร้างสันติภาพด้วยการเจรจา โดยผู้นำสหรัฐฯ โพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่มีนัยถึงการใช้นโยบายภาษีตอบโต้เป็นเงื่อนไขโน้มน้าวไทย-กัมพูชาให้ยุติการปะทะ โดยระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันบังเอิญเกิดขึ้นพร้อมกับที่ไทยและกัมพูชาเจรจาเรื่องการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ จะไม่ทำข้อตกลงใด ๆ กับทั้ง 2 ฝ่าย จนกว่าสถานการณ์ปะทะและต่อสู้จะยุติลง ซึ่งตนได้แจ้งให้ผู้นำทั้ง 2 ประเทศรับทราบแล้ว
นักวิเคราะห์ประเมินว่าผู้นำสหรัฐฯ ใช้นโยบายภาษีตอบโต้หรือผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจเป็นเงื่อนไขกดดันให้ไทยกับกัมพูชาเจรจากัน เนื่องจากภาษีตอบโต้อัตราร้อยละ 36 จะมีกำหนดการใช้จริงใน 1 สิงหาคม 2568 แต่คาดว่าแนวโน้มสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับพัฒนาการเหตุการณ์ในพื้นที่ปะทะ เพราะแม้ว่าผู้นำรัฐบาลไทยและกัมพูชาจะประกาศว่าต้องการสันติภาพ แต่ก็ยังมีการระดมกำลังพลและการปะทะกัน ทำให้นักวิเคราะห์ต่างประเทศประเมินว่าสถานการณ์อาจยืดเยื้อ นอกจากนี้ มีการประเมินว่าแม้การปะทะจะยุติได้ แต่บรรยากาศความขัดแย้งและความตึงเครียดบริเวณพรมแดนไทย-กัมพูชาจะยังไม่คลี่คลายโดยเร็ว และมีโอกาสสูงมากที่ประเด็นการบริหารจัดการชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชาจะกลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางการทูต การทหาร ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน รวมทั้งเป็นประเด็นทางการเมืองภายในของทั้ง 2 ประเทศต่อไปในระยะยาว